เปิดหมดเปลือก ข้อกฎหมายสร้างแบรนด์เครื่องสำอางกัญชง

Last updated: 28 เม.ย 2566  |  5344 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดหมดเปลือก ข้อกฎหมายสร้างแบรนด์เครื่องสำอางกัญชง

เปิดหมดเปลือก ข้อกฎหมายสร้างแบรนด์เครื่องสำอางกัญชง

     จากช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปลดล็อคบางส่วนของ“พืชกัญชง” พ้นยาเสพติด ทำให้หลายๆคนตื่นเต้นอยากทำแบรนด์เครื่องสำอางกัญชง เหมือนอย่างในต่างประเทศ ที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ถูกกฏหมาย และได้รับการยอมรับในธุรกิจความงามระดับโลก

     วันนี้เราเลยมาแชร์ความรู้ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางกัญชงที่เจ้าของแบรนด์ควรรู้ นั้นมีอะไรบ้าง? จะได้เข้าใจชัดเจน และไม่เสี่ยงผิดกฏหมาย ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันเลย!!

 

ปลดล็อค “เครื่องสำอางกัญชง Made in Thailand”

     สมัยก่อน”กัญชง”จัดเป็นพืชสารเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบัน ได้รับการยกเว้น ในส่วนของน้ำมันเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Extract) ไม่ต้องถูกควบคุมเป็นยาเสพติดประเภท 5 และสามารถให้ใช้ในอุตสาหกรรมยา สมุนไพร อาหารและเครื่องสำอางได้

     แต่ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ออกข้อกำหนด การนำสารสกัด/น้ำมันจากเมล็ดกัญชง มาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

1.แหล่งเพาะปลูก

     ข้อกำหนดอนุญาตให้ใช้ เฉพาะกัญชงจากแหล่งที่มาของผู้ผลิตในประเทศไทย และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกองควบคุมวัตถุเสพติด กระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี Safety Data Sheet (SDS) หรือ Specification ใบรับรองวัตถุดิบ

 

2.กระบวนการแปรรูป

     น้ำมันและสารสกัดเมล็ดกัญชงที่ผ่านกระบวนการแปรรูป สำหรับใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องมีใบ Certificate of Analysis (COA) รับรองปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมึนเมา ปนเปื้อนในวัตถุดิบไม่เกิน 0.2%

 

3.การผลิตเครื่องสำอาง

     นอกจากวัตถุดิบและสารสกัดเมล็ดกัญชงที่มีใบ Certificate รับรองแล้ว ผลิตภัณฑ์กัญชงก่อนที่จะยื่นจดแจ้ง อย. จะต้องส่งตรวจวัดค่า THC โดยกำหนดให้ เครื่องสำอาง มีค่า THC ไม่เกิน 0.2% และผลิตภัณฑ์ในช่องปาก และจุดซ่อนเร้น มีค่า THC ไม่เกิน 0.001%

 

จะเห็นว่าในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูก คัดสรรวัตถุดิบ ไปจนถึง กระบวนการแปรรูปเป็นสารสกัด และผลิตเป็นเครื่องสำอาง ล้วนต้องได้รับการรับรองถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นโรงงานที่มีมาตรฐานสูง จึงสามารถออกเอกสารรับรองที่ใช้ประกอบการยื่นจดแจ้งผลิตภัณฑ์กับทาง อย. ได้

ดังนั้นถ้าใครกำลังอยากสร้างแบรนด์ แล้วมีคนมาเสนอนำเข้าสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศ รู้ไว้เลยว่า ผิดกฎหมาย และไม่สามารถยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางได้ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แน่นอน

 

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อแบรนด์กัญชงที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร?

            นอกจากข้อกฎหมายข้างต้น อีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของแบรนด์ทุกคนควรรู้ เพื่อให้สามารถยื่นขอจดแจ้งเครื่องสำอางกัญชงผ่านแบบไม่ยาก ไม่ต้องยื่นขอกันหลายรอบ คือ การตั้งชื่อแบรนด์ให้ถูกต้อง สอดคล้องหลักเกณฑ์ที่ อย. กำหนด ซึ่งทีเอ็นพีซีรวบรวมมาให้ มีรายละเอียดสำคัญดังนี้

•ชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษต้องมีความหมายสอดคล้องตรงกัน หรือใช้คำทับศัพท์

•ต้องไม่ใช้ข้อความไปในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรือ อาจทำให้เข้าใจผิดจากความจริง

•ต้องไม่ใช้ข้อความ ที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย หรือส่อไปในทางทำลายคุณค่าของภาษาไทย เช่น ใช้คำสื่อเรื่องเพศสัมพันธ์

•ไม่ใช้คำที่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ เกินขอบเขตความเป็นเครื่องสำอาง เช่น สื่อถึงการบำบัด รักษา หรือมีคำพ้องกับชื่อผลิตภัณฑ์ยา

•การใช้สรรพคุณเป็นชื่อเครื่องสำอาง ต้องมีสารที่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง และมีปริมาณที่เพียงพอตามที่ระบุไว้ในฉลาก

•การกล่าวอ้างชื่อสารว่าเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ต้องมีสารดังกล่าวเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์นั้นจริง และมีปริมาณที่เพียงพอตามที่ระบุไว้ในฉลาก

•ชื่อเครื่องสำอาง ต้องมีความชัดเจนว่ามีส่วนผสมของสารสกัด หรือ น้ำมันจากเมล็ดกัญชง และไม่ทำให้เข้าผิดว่ามีกัญชง ส่วนที่ยังคงเป็นยาเสพติด เช่น ช่อดอก

-สามารถใช้คำว่า “Hemp” เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสำอาง

-ต้องระบุว่าเป็นส่วนเมล็ด เช่น Hemp Seed Oil , Hemp Seed Extract

-ห้ามใช้ชื่อ Hemp ที่ไม่ระบุส่วนที่ใช้

-ห้ามใช้ชื่อที่สื่อถึงส่วนอื่นๆ เช่น ช่อดอก

-ชื่อต้องสื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

 

     หวังว่าบทความนี้ จะทำให้เข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเครื่องสำอางกัญชง รวมไปถึงข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆในการจดแจ้งเครื่องสำอางกัญชงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ในการทำแบรนด์ของหลายๆคน เพราะถ้าเราสร้างแบรนด์ในสิ่งที่เราเข้าใจ เราจะทำมันได้ดีที่สุด

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้