เจาะลึก!! หลักเกณฑ์จดแจ้งเครื่องสำอาง ฉบับล่าสุด ปี 2022

Last updated: 28 เม.ย 2566  |  3535 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจาะลึก!!  หลักเกณฑ์จดแจ้งเครื่องสำอาง ฉบับล่าสุด ปี 2022

     หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่งประกาศใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอางฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2562 ที่ใช้มาหลายปี เราเลยถือโอกาสนำแนวทางข้อบังคับเกี่ยวกับการตั้งชื่อแบรนด์และชื่อเครื่องสำอาง มาฝากสำหรับเจ้าของแบรนด์ และคนที่สนใจกำลังอยากสร้างแบรนด์ ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกันครับ


หลักเกณฑ์จดแจ้งเครื่องสำอาง สำคัญอย่างไร ทำไมคนทำแบรนด์ต้องรู้? 

     เป็นข้อบังคับที่ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเครื่องสำอางของประเทศไทย ได้กำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานในการตรวจสอบและอนุญาตการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง จะได้รับเลขที่จดแจ้ง 13 หลัก และสามารถผลิตหรือจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ยื่นจดแจ้งไม่ผ่าน ก็เท่ากับ ยังไม่มีสิทธิ์ขายนั่นเอง หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน และปรับสูงสุด 50,000 บาท!!

     ทั้งนี้ “การตั้งชื่อโอเวอร์เกินจริง ไม่สอดคล้องกับสรรพคุณของเครื่องสำอาง” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าของแบรนด์หลายๆคนยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางไม่ผ่านสักที เสียโอกาสทั้งขายของ และขยายฐานลูกค้าไปโดยปริยาย ซึ่งการตั้งชื่อแบรนด์ และชื่อเครื่องสำอาง ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง "ฉบับล่าสุด" มีข้อกำหนดสำคัญที่ควรรู้ ดังต่อไปนี้


1.ชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง ที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต้องมีความหมายสอดคล้องตรงกัน หรือใช้คำทับศัพท์

2.ต้องไม่ใช้คำไปในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในความเป็นจริง

3.ต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย หรือส่อไปในทางทำลายคุณค่าของภาษาไทย หรือสื่อถึงการใช้ทางเพศสัมพันธ์ซึ่งมิใช่เครื่องสำอาง

4.ต้องไม่ใช้ข้อความ/คำศัพท์/ตัวย่อ/คำพ้องรูป/คำพ้องเสียง/ตัวอักษร/ตัวเลข/การออกเสียง ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือสื่อความหมาย /แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา เช่น STEM CE11

5.ต้องไม่ใช้ข้อความที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เครื่องสำอาง 

6.ข้อความที่ใช้เป็นชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง จะต้องสามารถชี้แจงและสื่อความหมายไปในทาง เครื่องสำอางได้อย่างสมเหตุสมผล 

7.การจดทะเบียนชื่อการค้าที่ใช้ข้อความ / คำศัพท์ / ตัวย่อ / คำพ้องรูป / คำพ้องเสียง / ตัวอักษร / ตัวเลข / การออกเสียงที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือสื่อความหมาย/แสดงสรรพคุณ เกินขอบข่ายเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา จะนำมาเป็นเหตุให้ยกเว้นการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ฉบับนี้ไม่ได้ 

8.ต้องไม่ใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะกระทำ โดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม 

9.ต้องไม่ใช้เครื่องหมายการค้า หรือภาพ หรือข้อความที่สื่อให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ เช่น สื่อไปในทางเพศ สื่อไปทางการรักษา สื่อไปในทางยาหรือมีผลระดับเซลล์ หรือมีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย 
 

     นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว คำที่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะต้องมีความสอดคล้องกับสรรพคุณหรือรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่ยื่นจดแจ้งอีกด้วย

โดยTNPC สรุปเงื่อนไขการใช้คำที่สำคัญๆ มาเป็นไกด์ไลน์ให้ทุกท่านครับ



ผลิตภัณฑ์ ดูแลสิว (Anti-Acne)


การใช้คำว่า “Acne /Anti-acne / Blackhead” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ หากเป็นภาษาไทยจะต้องใช้การทับศัพท์เท่านั้น ไม่สามารถใช้การแปลความหมายได้ และในสูตรผลิตภัณฑ์จะต้องมีส่วนผสมของ Salicylic Acid , Melaleuca Alternifolia Leaf Oil (Tea Tree Oil) หรือ Garcinia Mangostana Peel Extract 


ทั้งนี้ยกเว้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว สามารถใช้คำว่า “Acne /Anti-acne / Blackhead” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีสารดังกล่าว

*คำศัพท์เกี่ยวกับแอนตี้แอคเน่ที่ห้ามใช้ : Ache , Acne Control , Acne Out , Acne Therapy , Acne Treatment , Stop Acne , ลอกสิว , ขัดสิว , แก้สิว , ขยี้สิว , ดูดสิว , ลบสิว , ลดสิว , ลดสิวเสี้ยน , ลดอักเสบ , ลดการอักเสบ , สิวฝ้า , รักษาสิว , ฆ่าแบคทีเรีย 



ผลิตภัณฑ์ ขาวกระจ่างใส (Whitening)

 
การใช้คำ (Whitening / Lightening / Brightening) สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ หรือสื่อความหมายในทำนองเดียวกันได้ เมื่อในสูตรมีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด สารผลัดเซลล์ผิวกลุ่ม AHA BHA PHA  เช่น Glycolic Acid , Lactic Acid , Salicylic Acid , Gluconolactone หรือสารไวท์เทนนิ่งประเภทอื่นๆที่ทาง อย. กำหนดให้ใช้ได้ เช่น Arbutin , Niacinamide , Kojic Acid เป็นต้น 

*คำศัพท์เกี่ยวกับไวท์เทนนิ่งที่ห้ามใช้ : Anti Pigment , Anti Pigmentation , Anti Melanin , Cell Bright , Scar Eraser , Scar Remover , Scar Treatment , Pigment Reducing , Reduce Pigment , ลดฝ้า , ลดกระ , ลดฝ้ากระ , ลดรอยฝ้ากระ , ลบฝ้า , ลบรอยแผลเป็น , ลอกกระ , ลอกฝ้า , รักษาฝ้า 


ผลิตภัณฑ์กันแดด (Sunscreen)


อย. อนุญาติให้ใช้คำว่า “Sunscreen / UV Protection” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ เมื่อในสูตรมีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด ประเภท Physical sunscreen หรือ Chemical sunscreen ทั้งนี้หากมีคำที่แสดงถึงความสามารถในการกันน้ำ “Water Resistance/ Water Proof” จะต้องมีผลการทดสอบที่ได้มาตรฐานสากลรับรอง จึงสามารถใช้สรรพคุณดังกล่าวในชื่อผลิตภัณฑ์ได้

*คำศัพท์ห้ามใช้ : Sun Burn 

 


ผลิตภัณฑ์ ออร์แกนิค (Organic)

ในกรณีการจดแจ้งคำว่า “Organic” และคำพ้องรูปหรือคำพ้องเสียง เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ต้องมีเอกสาร Certificate ที่ออกโดยหน่วยงานหรือองค์กรรับรองที่น่าเชื่อถือ ที่แสดงว่ามีการใช้พืชที่ปลูกแบบ Organic เป็นส่วนผสมจริง 

ตัวอย่างองค์รับรองที่น่าเชื่อถือ

USDA Organic เครื่องหมายรับรองออร์แกนิค ที่ออกโดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตร ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ECOCERT® ออกโดยสถาบัน Ecocert ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการรับรองผลิตภัณฑ์ Organic ของโลก มีมาตรฐานเข้มงวดและความน่าเชื่อถือระดับสากล


ผลิตภัณฑ์ 

การใช้คำว่า “All In One / 2 in 1 / 3 in 1” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ จะต้องชี้แจงว่าสื่อความหมายอย่างไร และเกี่ยวข้องกับสารใดในสูตร ซึ่งต้องไม่เกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง ทั้งนี้หากมี Function เหมือนกัน ไม่สามารถกล่าวอ้างว่ามีหลายสรรพคุณได้

ยกตัวอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ 2 in 1 Makeup Removing Water มีส่วนผสม Micellar ช่วยทำความสะอาดสิ่งสกปรก ขจัดคราบเครื่องสำอาง สารสกัดจาก Centella และ Aloe Vera ช่วยบำรุงผิวให้นุ่มชุ่มชื้น จึงถือว่ามีฟังก์ชั่นการทำงาน 2 รูปแบบ ทั้งทำความสะอาดและช่วยบำรุงผิว ดังนั้นสามารถใช้คำว่า 2 in 1 เป็นส่วนหนึ่งของชื่อผลิตภัณฑ์ได้


บทสรุปของการจดแจ้ง อย.ให้ผ่านฉลุย คือ การศึกษาข้อบังคับต่างๆในหลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอางฉบับใหม่ให้เข้าใจชัดเจน ทั้งลักษณะการตั้งชื่อที่ถูกต้อง การใช้คำให้สอดคล้องกับสรรพคุณมีเงื่อนไขอะไรบ้าง และคำแบบไหนที่ อย. ไม่อนุญาตให้ใช้ เพียงเท่านี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจะยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางอีกกี่รอบ อีกกี่สูตรผลิตภัณฑ์ รับรองผ่านฉลุยทุกครั้งอย่างแน่นอน 

ที่มาข้อมูล : หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


 

สร้างแบรนด์ครบจงจร กับ TNP Cosmeceutical โรงงานรับผลิตครีมชั้นนำ ที่ได้มาตรฐานส่งออก ISO 22716 , GMP TUV NORD  , GMP ASEAN และ HALAL ด้วยทุนเริ่มต้นเพียงหลักหมื่น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้