ศาสตร์แห่งกลิ่นหอม Fragrance 101

Last updated: 21 ส.ค. 2566  |  6692 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาสตร์แห่งกลิ่นหอม Fragrance 101

     น้ำหอมหนึ่งในหัวใจหลักของหลาย ๆ สูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ให้กลิ่นหอมหลากหลายสไตล์ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละกลิ่น ในแต่ละกลิ่นให้ความรู้สึกแตกต่างกันไป ทั้งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายเบาสบายตัว รู้สึกสดชื่นอารมณ์สดใสพร้อมทำกิจกรรม รู้สึกหวานละมุนนุ่มนวล หรือให้ความรู้สึกลึกลับน่าค้นหา นอกจากนี้ กลิ่นหอมสามารถกระตุ้นอารมณ์และความทรงจำได้อย่างทรงพลัง TNP จะพาคุณไปรู้จักกับ Fragrance, Perfume และ Essential oil ว่าคืออะไรกันค่ะ



     เพอร์ฟูม หรือ น้ำหอม คือ น้ำที่กลั่นจากเครื่องหอม สมัยก่อนเรียกว่า ‘น้ำอบฝรั่ง’ ในน้ำหอมมีส่วนผสมของฟราแกรนซ์ (1-40% ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำหอม) น้ำมันหอมระเหย สารประกอบที่มีกลิ่นหอม (aroma compounds) สารตรึงกลิ่น (fixatives) และสารทำละลาย (solvents)



     ในอีกมุมมอง น้ำหอมเปรียบเสมือนการผสมผสานระหว่างภาพวาดและดนตรี ในแต่ละกลิ่นบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแล้วแต่งแต้มลงไปในน้ำหอม ปรากฎขึ้นมาเป็นโน้ตและโทนราวกับดนตรี



 Luca Turin กล่าวว่า น้ำหอมไม่ใช่แค่กลิ่น นี่คือสิ่งที่ฉันเรียกว่าข้อความในขวด น้ำหอมเปรียบเสมือนบทกวีทางเคมีที่แต่งขึ้นโดยมนุษย์เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ให้กับมนุษย์อีกคนหนึ่ง



ส่วนประกอบน้ำหอม (Perfume composition)

การผสมน้ำหอม สัดส่วนของน้ำหอมประกอบด้วย

Heart materials : กลิ่นหลักหรือกลิ่นพื้นฐาน เป็นหัวใจของน้ำหอม เช่น น้ำหอมกลิ่นกุหลาบที่มีฟราแกรนซ์กุหลาบเป็นหลัก
สัดส่วนของ Heart materials อยู่ที่ 50-80%


Modifiers : ตัวดัดแปลงกลิ่น เป็นตัวช่วยปรับกลิ่นฟราแกรนซ์ เช่น เพิ่มสไตล์ ให้เป็นธรรมชาติ เพิ่มความสดชื่น หรือความฟุ้งกระจาย เป็นต้น
สัดส่วนของ Modifiers อยู่ที่ 2-3%


Blenders : ตัวเชื่อมโยงกลิ่น เป็นตัวช่วยให้กลิ่นมีความกลมกล่อมไปด้วยกัน โดยทดลองใช้โน้ตกลิ่นจากกลุ่มเดียวกัน เช่น Bergamot, Linalool และ PEA
สัดส่วนของ Blenders อยู่ที่ 5-20%


Fixatives : ตัวตรึงกลิ่น เป็นตัวช่วยในการตรึงกลิ่นให้อยู่ยาวนาน เพิ่มความลึกให้ฟราแกรนซ์ เช่น Musk, Woods, Oakmoss และ Vanilla
สัดส่วนของ Fixatives อยู่ที่ 5%




เอสเซนเชียล ออยล์ หรือ น้ำมันหอมระเหย คือ น้ำมันที่สกัดได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพืชนั้น ๆ โดยน้ำมันหอมระเหยมีผลต่อทางจิตใจ (psychological effects) และทางชีวภาพ (biological effects) ใช้เป็นส่วนผสมในการทำฟราแกรนซ์ได้



ตัวอย่างน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช

ดอก (Flower) ได้แก่ ลาเวนเดอร์ คาร์เนชัน คาโมมายล์ การ์เดเนีย ไฮยาซินท์ มะลิ จำปี จำปา กุหลาบ กระดังงา

ใบ (Leaf) ได้แก่ ยูคาลิปตัส โหระพา ซินนามอน ซิโตรเนลลา เจอราเนียม มินท์ ตะไคร้ พิมเสน

ผล (Fruit) ได้แก่ โป๊ยกั๊ก

เมล็ด (Seed) ได้แก่ ลูกจันทน์ เทียนเยาวพาณี ยี่หร่า กระวาน ผักชี ผักชีลาว พริกไทย

ผิวเปลือก (Peel) ได้แก่ ส้ม เบอกามอท มะนาว เลม่อน

เปลือกไม้ (Bark) ได้แก่ อบเชยเทศ อบเชยจีน

เนื้อไม้ (Wood) ได้แก่ สนซีดาร์ ไม้จันทน์

ราก (Root) ได้แก่ หญ้าแฝกหอม แองเจลิกา (Angelica)

เหง้า (Rhizomes) ได้แก่ ขิง ว่านน้ำ ออร์ริส (Orris)




     ฟราแกรนซ์ หรือ เครื่องหอม คือ สิ่งที่ทำให้มีกลิ่นหอม สามารถปล่อยและกระจายกลิ่นหอมด้วยการระเหยที่อุณหภูมิห้องหรือระเหยเมื่อถูกความร้อน ได้จากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ ในบางความเข้าใจ ฟราแกรนซ์จะถูกมองว่าเป็น ‘หัวน้ำหอม’



แหล่งที่มาของฟราแกรนซ์ ได้แก่

ฟราแกรนซ์จากพืช เช่น น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช ดอก ใบ เปลือก ต้น ราก

ฟราแกรนซ์จากสัตว์ เช่น วาฬ บีเวอร์ ชะมด กวางชะมด

ฟราแกรนซ์จากเคมีสังเคราะห์ เช่น alcohol group, aldehyde group, ketone group และ ester group


ในเครื่องสำอางฟราแกรนซ์มีหน้าที่ ดังนี้

  • เพื่อให้มีกลิ่นหอม
  • เพื่อปกปิดกลิ่นของเนื้อผลิตภัณฑ์
  • เพื่อให้สินค้ามีเอกลักษณ์
  • เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า

 

Fragranc Note

โน้ตของฟราแกรนซ์มีขึ้นเพื่อใช้อธิบายน้ำหอมในรูปแบบโครงสร้างพีระมิด (Fragrance Pyrymid) โดยมีการใช้คำศัพท์ Top note, Middle note และ Base note น้ำหอม 2 กลิ่นแรกที่เป็นผู้ริเริ่มวิธีนี้ คือ น้ำหอม Fougere Royale และ น้ำหอม Jicky ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก


โน้ต (Notes) หรือ ระดับแนวกลิ่น แบ่ง ได้ 3 ระดับคือ





 

 กลิ่นแรกที่รับรู้ได้ในทันทีที่เปิดใช้ ให้กลิ่นหอมสดชื่น สารประกอบมีโมเลกุลของกลิ่นเล็ก ระเหยได้ง่ายและรวดเร็ว คงอยู่ประมาณ 15 นาที


โน้ตกลิ่นที่อยู่ในกลุ่ม Top note

กลิ่นผลไม้ (Fruity)

เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกเปล่งประกาย สนุกสนาน อ่อนเยาว์ ได้จากผลไม้ที่สามารถกินผลได้ เช่น pineapple, pear, melon, apple, n-butyl acetate (กลิ่นกล้วยหอม), ethyl butyrate (กลิ่นสับปะรด) นอกจากนี้ ในบางน้ำหอมก็ใช้เป็น heart note ได้เช่นกัน


กลิ่นซีตรัส (Citrus)

เป็นกลิ่นที่ดมแล้วให้ความรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา ได้จากผลไม้รสเปรี้ยว เช่น lemon, lime, bergamot, mandarin และได้จากกรด เช่น acetic acid, butyric acid


กลิ่นเขียว (Green)

เป็นกลิ่นที่ดมแล้วชวนให้นึกถึงความเป็นสีเขียวของธรรมชาติ อย่าง หญ้าสด ใบไม้สด ผักใบเขียว ผลเมล่อนเขียว และผลแอปเปิ้ลเขียว ให้ความรู้สึกสะอาด คมชัด ธรรมชาติ และชุ่มฉ่ำ เช่น galbanum, cis 3 hexenol


กลิ่นอควาติกหรือโอโซนิก (Aquatic/Ozonic)

เป็นกลิ่นที่ดมแล้วให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ชายฝั่งทะเลและผืนน้ำ เช่น calone, dihydromycenol


กลิ่นแอลดีไฮด์ (Aldehyde)

เป็นกลิ่นที่ได้จากเคมีสังเคราะห์ ให้ความรู้สึกคล้ายกลิ่นผสมของน้ำ ไขมัน หรือโลหะ กลิ่นที่ออกมาจากผ้าขณะรีดผ้า เช่น aldehyde C10, aldehyde C11, aldehyde C12


กลิ่นสมุนไพร (Herbal)

เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกถึงความฉุน ความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ ความเย็นของสมุนไพร เช่น basil, pine, mint, rosemary, lavender, tyme, sage, camphor




 

 เป็นกลิ่นของน้ำหอมตัวหลักในน้ำหอมชนิดนั้นๆ กลิ่นจะค่อย ๆ ระเหยหลังจาก top note ระเหยออกไปแล้ว ให้กลิ่นที่มีลักษณะเฉพาะเป็นกลิ่นแนว floral และ spicy โน้ตนี้นับได้ว่าเป็นหัวใจของน้ำหอม คงอยู่ 15 นาที - 5 ชั่วโมง


โน้ตกลิ่นที่อยู่ในกลุ่ม Middle note


กลิ่นเครื่องเทศ (Spices)

เป็นกลิ่นที่ทำให้จินตนาการถึงความอบอุ่น สดชื่น มีพลัง เช่น nutmeg, clove, ginger, cinnamon, pepper


กลิ่นดอกไม้ (Floral)

เป็นกลิ่นดอกไม้นานาชนิด กลิ่นมีความหอมหวาน ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน นุ่มนวล เย้ายวน เช่น rose, violet, jasmine, ylang ylang, carnation, lavender, tuberose, hyacinth, freesia, neroli, lily of the valley




 

      กลิ่นที่ปรากฎทีหลังสุดหลังจาก top และ middle ระเหยไปเกือบหมดแล้ว โน้ตนี้จะนำพาให้น้ำหอมมีความลึก กลิ่นไม่รุนแรงหรือโดดเด่น หอมแบบเรียบ ๆ และหอมยาวนานไปจนถึงจุดสิ้นสุดของกลิ่น หลังน้ำหอมผ่านการระเหยไปแล้ว 4-5 ชั่วโมง โน้ตนี้จึงจะค่อย ๆ ปรากฎขึ้นมา เนื่องจากสารประกอบโมเลกุลมีขนาดใหญ่ ระเหยได้ช้า บางกลิ่นสามารถคงอยู่ยาวนานได้หลายวัน




โน้ตกลิ่นที่อยู่ในกลุ่ม Base note

กลิ่นไม้ (Woody)

เป็นกลิ่นที่ดมแล้วให้ความรู้สึกถึงกลิ่นหอมของต้นไม้ตัดใหม่ รากแห้งที่อบภายใต้แสงแดด รากฝอยของต้นไม้ และพุ่มไม้บางชนิด ให้กลิ่นหอมคงอยู่นาน หอมติดทน เช่น sandalwood, cedarwood, patchouli, oakmoss


กลิ่นอำพัน (Amber)

เป็นกลิ่นที่มีความนุ่มนวล อบอุ่น หอมหวาน และลึกล้ำ ได้มาจากเรซิ่นของไม้ เช่น  amber core, cedramber, grisalva, timbertouch


กลิ่นหอมหวาน (Sweet/Gourmand)

เป็นกลิ่นหอมหวาน ละมุน สงบ เช่น vanilla, tonka bean, honey, caramel, coffee, almond, vanillin, ethyl vanillin, coumarin


กลิ่นสัตว์ (Animalic)

เป็นกลิ่นที่ได้จากสัตว์ แรกเริ่มที่กลิ่นยังคงมีความเข้มข้นมาก เมื่อดมแล้วมักไม่พึงประสงค์ มีทั้งความฉุน ระคาย จึงต้องนำมาเจือจางความเข้มข้นลงก่อนใช้ เมื่อเจือจางแล้วกลิ่นจะมีความละมุน นุ่มนวล อ่อนโยน ช่วยแต่งเติมให้น้ำหอมมีกลิ่นโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้มีการใช้เคมีสังเคราะห์แทน เช่น musk, civet, castoreum, ambergris, galaxolide, musk ketone, pentadecanolide, muscone


กลิ่นไอริส (Iris)

เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกหวานละมุน อ่อนเยาว์ และมีความแป้ง ช่วยตรึงกลิ่นได้ยาวนาน แต่ในน้ำหอมบางกลิ่น ไอริสจะอยู่ในตำแหน่ง top note หรือ heart note เพื่อมอบความสดชื่นและเปล่งประกายของมวลดอกไม้ เช่น สารกลุ่ม a-ionone, isomethyl ionone, cetone v, b-ionone


กลิ่นบัลซามิก (Balsamic)

เป็นกลิ่นที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นุ่มนวล อบอุ่น ช่วยเติมเต็มโน้ตกลิ่นวานิลลาให้มีความสมบูรณ์ บางครั้งก็สามารถเป็น heart note ได้ เช่น สารกลุ่ม labdanum, benzoin, styrax oil, peru balsam


Accord คือ การผสมผสานโน้ตกลิ่นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างโน้ตผสมที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งปัจจุบันมี Accord ที่หลากหลายมากมาย ตัวอย่างเช่น



แนวกลิ่น Chypre

Chypre หรือ Cyprus เป็นการผสมความแตกต่างระหว่างความสดชื่นของ bergamot, oakmoss และ patchouli น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้ เช่น Chypre de Coty



แนวกลิ่น Fougere

Fougere เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง ต้นเฟิร์น เป็นการผสมผสานระหว่าง lavender, oakmoss และ coumarin ดมแล้วรู้สึกจินตนาการถึงต้นเฟิร์น ทั้งที่ความจริงเฟิร์นไม่มีกลิ่น น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้ Fougère Royale



แนวกลิ่น Soliflore

Sol เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง เดี่ยว และ flore หมายถึง ดอกไม้ ดังนั้น แนวกลิ่นนี้จึงเน้นไปที่กลิ่นหอมของดอกไม้ชนิดเดียวเท่านั้น เช่น น้ำหอมที่เน้นกลิ่นดอกมะลิเป็นหลัก อย่าง Love and Tears By Kilian



แนวกลิ่น Citrus

ใช้ฟราแกรนซ์ที่ให้ความสดชื่นมาประกอบกัน แนวกลิ่นนี้มักใช้ทำ Eau de Colognes (EDC) น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้ เช่น Dior Homme Cologne 2022



แนวกลิ่น Aldehydic

เป็นแนวกลิ่นที่ใช้ฟราแกรนซ์จากเคมีสังเคราะห์ อย่าง โน้ตแอลดีไฮด์ (aldehydes) น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้เป็นตัวแรก คือ Chanel No. 5



แนวกลิ่น Orientals

เป็นแนวกลิ่นที่มีการผสมผสานระหว่างกลิ่นวานิลลา กลิ่นดอกไม้ และกลิ่นไม้ น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้ เช่น Oriental Oriental by Zara



แนวกลิ่น Leather

เป็นแนวกลิ่นที่ให้ความรู้สึกถึงเครื่องหนัง ประกอบด้วย กลิ่นของน้ำผึ้ง ยาสูบ ไม้ และน้ำมันที่กลั่นจากไม้ (wood tars) ใช้เป็น heart note หรือ base note ได้ น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้ เช่น Leather Oud Dior

 


แนวกลิ่น Woody

เป็นแนวกลิ่นที่โดดเด่นด้วยกลิ่นไม้ มักจะเป็นไม้จันทน์ (sandalwood) และไม้สนซีดาร์ (cedarwood) น้ำหอมที่ใช้กลิ่นแนวนี้ เช่น Woodissime by Mugler

สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยกลิ่นหอม ให้เครื่องสำอางของคุณดูโดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ ที่ TNP มีนักวิจัยที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี จะมาช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ให้กลิ่นหอมโดดเด่นในแบบของคุณ ให้เราพัฒนาสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแบรนด์ของคุณ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้