แชร์

เปิดโลก เครื่องสำอางญี่ปุ่น ผู้นำวงการความงามระดับโลก

อัพเดทล่าสุด: 25 มิ.ย. 2024
658 ผู้เข้าชม

     ญี่ปุ่นดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัยมีขนาดของตลาดเครื่องสำอางและคอสเมติกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน ด้วยความยิ่งใหญ่นี้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำวงการความงามระดับโลก มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลากหลายระดับสำหรับผู้บริโภคตั้งแต่สินค้าทั่วไปจนถึงไฮเอนด์ ในตลาดญี่ปุ่นสินค้าเครื่องสำอางที่ค่อนข้างไฮเอนด์จะเรียกว่า "เครื่องสำอาง" ส่วนสินค้าเครื่องสำอางที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเรียกว่า "คอสเมติก" นอกจากนี้ ตลาดสินค้าเครื่องสำอางจะแยกตามระดับราคาคือ สูง กลาง และต่ำ โดยกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด คือ สินค้าระดับราคาปานกลาง 37% รองลงมาคือระดับราคาสูง 33% และระดับราคาต่ำ 22% ที่เหลือเป็นเครื่องสำอางสำหรับใช้ในธุรกิจ (เช่น ร้านทำผม ร้านบริการแต่งหน้า ฯลฯ) 8% ซึ่งส่วนแบ่งตลาด 40% เป็นของบริษัทขนาดใหญ่ 5 บริษัท ได้แก่ Shiseido Group, Kao Group, Kose Group, P&G และ Pola Orbis ที่เหลืออีก 60% เป็นของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 3,000 แห่ง

     ในญี่ปุ่นมีการจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์ออกเป็น 4 ประเภท คือ ยา เวชสำอาง (Quasi Drug) เครื่องสำอาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเล็กน้อยต่อร่างกายมนุษย์ และใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแล ปกป้องผิวหนัง ผม เล็บ หรือเพื่อทำสี หรือให้กลิ่นหอม ส่วนเวชสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเล็กน้อยต่อร่างกายมนุษย์และไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องสำอางที่มีฤทธิ์เป็นยา ยาปลูกผม ยาย้อมผม น้ำยาดัดผม น้ำยาอาบน้ำ น้ำยาระงับกลิ่นปาก น้ำยาระงับกลิ่น แป้งที่ช่วยลดผดผื่น ครีมกำจัดขน เป็นต้น

     ปัจจุบันระหว่างไทยและญี่ปุ่นได้มี JTEPA (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น) และ AJCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่อาเซียน-ญี่ปุ่น) ทำให้ไทยไม่จำเป็นต้องเสียภาษีศุลกากรเมื่อนำเข้ามาประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไปญี่ปุ่นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของทางญี่ปุ่น ผู้ส่งออกจะต้องมีการขออนุญาตการผลิตและขายเครื่องสำอาง ตรวจดูส่วนผสมที่ไม่ควรใช้และและส่วนผสมที่สามารถใช้ได้แต่มีข้อจำกัดในการใช้อย่างละเอียด ฉลากเครื่องสำอางต้องเป็นไปตามกฎหมายญี่ปุ่นและต้องแสดงเป็นภาษาญี่ปุ่น ห้ามโฆษณาเกินความจริง และมีการรายงานเมื่อสังเกตพบผลข้างเคียงจากการใช้สินค้า ด้วยข้อกำหนดที่มากมายของญี่ปุ่น ทำให้สินค้าเครื่องสำอางที่ขายในญี่ปุ่นมีมาตรฐานที่สูงและมีประสิทธิภาพที่ดีถึงแม้จะมีราคาที่แพง ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเลือกใช้สินค้าเครื่องสำอางดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ราคาระดับกลางถึงสูงได้รับความนิยมมากถึง 70%

Did you know รู้หรือไม่?
เวชสำอางที่เป็น cosmeceutical (pharmaceutical + cosmetic) ในไทยเป็นคำที่ไม่มีนิยามตามกฎหมาย แต่เข้าใจได้ว่าคือผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาคุณสมบัติของเครื่องสำอางและยาไว้ด้วยกัน ซึ่งญี่ปุ่นเองก็หลีกเลี่ยงและใช้คำว่า quasi drug แทน ในปี 2566 ไทยได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาคือ "เวชสำอางสมุนไพร" เป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ รวมถึงฟันและเยื่อบุช่องปาก เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างการทำงานของร่างกายให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่จัดว่าเป็นเครื่องสำอาง

     ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมาโดยตลอดและที่เป็นแบบนี้เพราะว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยญี่ปุ่นได้ประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับประเทศให้มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ ในปี 2593 และมีการประกาศว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถึง 50% ภายในปี 2573 จึงทำให้ญี่ปุ่นเร่งเข้าสู่กระบวนการการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นศูนย์แล้วก็เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองจึงได้กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ระยะยาว เช่น นโยบาย Green Growth Strategy พื้นฐานด้านพลังงาน และมาตรการป้องกันภาวะโลกร้อนตามข้อตกลงของกรุงปารีส

     การที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนแบบนี้ทำให้มีผลต่อการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก หลาย ๆอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นมีการปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกมีการลดใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมแล้วหันมาใช้ bio-plastic ทดแทน ทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นก็พยายามปรับตัวและหาวิธีที่จะผลิตสินค้าโดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกระบวนการผลิต การเลือกวัตถุดิบ รวมถึงการใช้สินค้าให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ปรับตัวเป็น green cosmetics ผลิตเครื่องสำอางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิตไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ ชาวญี่ปุ่นเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หันมาใช้เครื่องสำอางออร์แกนิค ซึ่งถือว่ามีส่วนช่วยในการลดคาร์บอน เพราะว่าไม่ใช้ปุ๋ยเคมีที่ก่อให้เกิดไนโตรเจน ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจก ทำให้ตลาดออร์แกนิคของญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างมากและในอนาคตจะยังคงมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับรัฐบาล

     เครื่องสำอางไทยเองก็เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นเช่นกัน จากกระแสซีรีส์วายที่โด่งดังในญี่ปุ่นส่งผลให้วัยรุ่นญี่ปุ่นให้ความสนใจกับเครื่องสำอางไทยมากขึ้น ทั้งบรรจุภัณฑ์ที่น่ารัก ดึงดูดตา ราคาย่อมเยา มีเครื่องสําอางทําจากวัตถุดิบธรรมชาติหรือออร์แกนิคมาก มีกลิ่นหอม ตอบโจทย์เรื่องปัญหาผิวได้ดี มีสกินแคร์ cruelty-free มาก และนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตมีส่วนที่ดึงดูดความสนใจในผู้บริโภคได้มาก ดังนั้น การผลิตเครื่องสำอางส่งออกไปญี่ปุ่นเชื่อว่าเครื่องสำอางไทยสู้ได้แน่นอน สิ่งที่ต้องใส่ใจจึงเป็นเรื่องของกฎหมายเครื่องสำอางของญี่ปุ่น โดยเครื่องสำอางญุี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้กฎหมายยาและอุปกรณ์การแพทย์ของญี่ปุ่น

     จากกฎหมายยาและอุปกรณ์การแพทย์ของญี่ปุ่น การกล่าวอ้างถึงประสิทธิผลของเครื่องสำอางมีการกำหนดไว้ทั้งสิ้น 3 ประการ

1. ญี่ปุ่นได้กำหนดประโยคที่ใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอางไว้ 56 ประโยค

 เครื่องสำอางสำหรับหนังศีรษะและเส้นผม 

1. ทำความสะอาดหนังศีรษะและเส้นผม
2. ด้วยกลิ่นนี้จะช่วยระงับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของเส้นผมและหนังศีรษะ
3. ช่วยให้หนังศีรษะและเส้นผมแข็งแรง
4. ให้ความกระชับแก่เส้นผม
5. ให้ความชุ่มชื่นแก่หนังศีรษะและเส้นผม
6. บำรุงหนังศีรษะและเส้นผมให้ชุ่มชื้น
7. ทำให้ผมนุ่มสลวย
8. ทำให้หวีได้ดีขึ้น
9. บำรุงผมให้เงางาม
10. ให้ความเงางามแก่เส้นผม
11. ขจัดรังแคและอาการคัน
12. ระงับรังแคและอาการคัน
13. ช่วยเสริมและรักษาความชุ่มชื้นและความมันของเส้นผม
14. ป้องกันผมแตกปลาย ผมขาด
15. ปรับทรงและรักษาทรงผม
16. ป้องกันไฟฟ้าสถิตบนผม

 เครื่องสำอางสำหรับการทำความสะอาด 
17. ทำความสะอาดผิว (โดยการขจัดสิ่งสกปรก)
18. ป้องกันสิวและผด (ด้วยการล้างหน้า) (สำหรับโฟมล้างหน้า)

 เครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง 
19. ปรับสภาพผิวของคุณ
20. ปรับสัมผัสผิวให้ดีขึ้น
21. ดูแลผิวให้แข็งแรง
22. ป้องกันผิวหยาบกร้าน
23. ยกกระชับผิว
24. ให้ความชุ่มชื่นแก่ผิว
25. ช่วยเสริมและคงความชุ่มชื้นและความมันของผิว
26. ให้ผิวมีความยืดหยุ่น
27. ปกป้องผิว
28. ป้องกันไม่ให้ผิวแห้งกร้าน
29. ทำให้ผิวนุ่มขึ้น
30. ให้ผิวเต่งตึง
31. ให้ความเงางามแก่ผิว
32. ปรับผิวให้เรียบเนียน
33. ทำให้โกนหนวดง่ายขึ้น
34. ปรับสภาพผิวหลังการโกนหนวด
35. ป้องกันผดผื่น (แป้งฝุ่น)
36. ป้องกันการถูกแดดเผา
37. ป้องกันฝ้า กระ ที่เกิดจากแสงแดด
38. ทำให้ริ้วรอยเล็ก ๆ ที่เกิดจากความแห้งสังเกตเห็นได้น้อยลง

 เครื่องสำอางให้กลิ่น 
39. ให้กลิ่นหอม

 เครื่องสำอางสำหรับเล็บ 
40. ปกป้องเล็บของคุณ
41. บำรุงเล็บให้แข็งแรง
42. ให้ความชุ่มชื่นแก่เล็บ

 เครื่องสำอางสำหรับริมฝีปาก 
43. ป้องกันริมฝีปากหยาบกร้าน
44. ปรับสัมผัสของริมฝีปากให้ดีขึ้น
45. ให้ความชุ่มชื่นแก้ริมฝีปาก
46. ทำให้ริมฝีปากของคุณแข็งแรง
47. ปกป้องริมฝีปากของคุณ ป้องกันไม่ให้ริมฝีปากแห้ง
48. ป้องกันริมฝีปากแห้งจากความแห้งกร้าน
49. ให้ริมฝีปากเรียบเนียน

 เครื่องสำอางสำหรับช่องปาก 
50. ป้องกันฟันผุ
51. ช่วยให้ฟันขาว
52. ขจัดคราบขี้ฟัน
53. ชำระล้างช่องปาก (ยาสีฟัน)
54. ป้องกันกลิ่นปาก (ยาสีฟัน)
55. ขจัดคราบเหลืองที่ฟัน
56. ป้องกันการสะสมของหินปูน

2. ผลจากการแต่งหน้า
ผลจากการแต่งหน้าคือ ผลกระทบทางกายภาพ เช่น การปกปิด การซ่อน และทำให้มองเห็นได้ยากขึ้นอยู่กับสี การกล่าวอ้างโฆษณาใช้ได้หากอยู่ในขอบเขตความจริง เช่น ป้องกันไม่ให้เครื่องสำอางหลุด ทำให้ริ้วรอยเล็ก ๆ สังเกตเห็นได้น้อยลง การทำให้ผิวดูสดชื่น

3. ความรู้สึกจากการใช้งานจริง
สามารถใช้ความรู้สึกจากการใช้งาน หากอยู่ในขอบเขตความจริงได้ เช่น ให้ความรู้สึกสดชื่น รู้สึกเย็นสบาย ฯลฯ

     ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำในวงการความงามแต่ยังไม่มีมาตรฐานเครื่องสำอางออร์แกนิกตามกฏหมาย มีเป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยเครื่องสำอางออร์แกนิกญี่ปุ่นที่เป็นองค์กรอิสระ ตรงจุดนี้จึงเป็นโอกาสให้เครื่องสำอางไทยได้ไปทำตลาดที่ญี่ปุ่นได้ สนใจสร้างแบรนด์เครื่องสำอางส่งออกญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมาย ปรึกษาทีเอ็นพีได้เลย!

ที่มา
สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว


บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.29 การโฆษณาเครื่องสำอาง (Cosmetics Advertising) อัปเดทล่าสุดปี พ.ศ.2567
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ขายดีย่อมต้องมีการโฆษณา ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แต่การที่จะโฆษณาเครื่องสำอางได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง และปัจจุบันทางกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้มีการปรับปรุงคู่มือการโฆษณา ฉบับล่าสุดปี พ.ศ.2567
9 ธ.ค. 2024
Complete Guide เริ่มต้นธุรกิจสปา ตั้งแต่คิดคอนเซปจนถึงเปิดร้าน
เรียนรู้ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนทำธุรกิจร้านสปา ตั้งแต่เริ่มต้นคิดคอนเซปต์จนถึงวันเปิดร้านวันแรก เรียนรู้เรื่องการเงิน และการตลาดสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
26 พ.ย. 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.28 ข้อควรรู้! สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอาง
สารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง? ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อหรือเริ่มต้นสร้างแบรนด์ ใน EP.28 นี้ TNP ได้สรุปสารที่ควรหลีกเลี่ยงในเครื่องสำอางประเภทต่างๆ มาให้แบบเข้าใจง่าย
9 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ