R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.30 การแบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ (Refill Station)
ปี 2565 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 25.70 ล้านตัน มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นขยะรีไซเคิลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ 8.8 ล้านตัน (34.2%) ขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 9.8 ล้านตัน (38.1%) และขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 7.1 ล้านตัน (27.6%) นอกจากนี้ ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) มีปริมาณที่มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี
ทางภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ความยั่งยืน เป็นประเทศสีเขียว โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals (SDGs)) ดังนี้
สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน
- ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
- บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำและดิน อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563 ลดการผลิตของเสีย โดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการนำมาใช้ซ้ำ ภายในปี 2573
การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
- ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนบก ภายในปี 2568
ในส่วนของเครื่องสำอางเองก็ได้มีมาตรการที่เกี่ยวข้อง คือ การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะ เป็นมาตรการที่สนับสนุนให้ผู้ผลิต (Brand owner) สินค้าอุปโภคในชีวิตประจำวันใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วน Post Consumer Recycled (PCR) และมีจุดเติมผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ (Refill station) ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมจุดเติมผลิตภัณฑ์
เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอาง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ (Refill station) พ.ศ. ๒๕๖๖ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันในการรักษาสิ่งเวดล้อม ลดการใช้พลาสติก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนใช้ซ้ำ แทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้ง ลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด เพื่อส่งเสริมให้มีการดำเนินงานที่มุ่งสู้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจสีเขียว และเพื่ออำนวยต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ และลดความซ้ำซ้อน โดยที่ผู้บริโภคยังคงได้รับเครื่องสำอางที่มีความปลอดภัย
การแบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ (Refill station) หมายความว่า การแบ่งถ่ายเครื่องสำอางเพื่อขาย โดยกระทำ ณ จุดบริการ ซึ่งไม่รวมถึงการทำ ผสม เปลี่ยนรูป แปรสภาพ ปรุงแต่งเครื่องสำอางดังกล่าว
เครื่องสำอางที่อนุญาตให้แบ่งบรรจุเพื่อขาย ณ จุดบริการ ต้องเป็นเครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้นและห้ามผลิต หรือขายต่อ โดย มี 2 ประเภท ที่อนุญาตให้ขายได้ คือ
- น้ำหอม เฉพาะรูปแบบที่เป็นของเหลว รูปแบบสเปรย์ไม่อัดแก๊ส
- เครื่องสำอางที่ใช้ทำความสะอาดผิวกาย และ/หรือ เส้นผม/หนังศีรษะ ประเภทล้างออก เฉพาะรูปแบบที่เป็นของเหลวที่ไหลได้เท่านั้น ซึ่งลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบครีม (cream) เจล (gel) โลชั่น (lotion) ของเหลว (liquid) และน้ำมัน (oil) เท่านั้น เช่น สบู่เหลวทำความสะอาดมือ สบู่เหลวทำความสะอาดร่างกาย ครีมอาบน้ำ แชมพู เป็นต้น


- บุคลากรทุกคนที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการแบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการต้องได้รับการฝึกอบรมให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ต้องมีความรู้ทางด้านสุขอนามัย ข้อปฏิบัติ และข้อควรระวังในการปฏิบัติงาน
- บุคลากรต้องมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง หรือมีบาดแผลตามร่างกาย ซึ่งพนักงานที่เจ็บป่วยหรือมีบาดแผลเปิด อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนกับกระบวนการแบ่งบรรจุซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเครื่องสำอางได้ จึงไม่ควรปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ที่ต้องสัมผัสกับเครื่องสำอางโดยตรง

ต้องจัดให้มี
- สถานที่ตั้งเครื่องหรืออุปกรณ์การจ่ายที่มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ที่เป็นหลักแหล่ง จุดบริการอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีบริเวณเป็นสัดส่วน เพียงพอ มีสภาพเหมาะสม และปลอดภัย
- บริเวณจัดเก็บเครื่องสำอางก่อนนำมาแบ่งบรรจุแยกเป็นสัดส่วน
- การแสดงใบแจ้งเกี่ยวกับสถานที่แบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ และจัดทำแผ่นป้ายด้วยวัสดุถาวร แสดงข้อความ สถานที่แบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย หรือ COSMETIC REFILL STATION โดยแสดงไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
- การแสดงฉลากของเครื่องสำอางที่รอการบรรจุ (Bulk product for refll) ให้เห็นชัดเจน ณ จุดบริการ
- ในกรณีที่เครื่องหรืออุปกรณ์การจ่ายเครื่องสำอางติดตั้งอยู่บนรถยนต์ เครื่องหรืออุปกรณ์การจ่ายต้องติดตั้งอย่างมั่นคงแข็งแรง จุดบริการที่รถยนต์ไปจอดเพื่อแบ่งบรรจุเครื่องสำอางต้องจอดตามที่ได้แจ้งไว้เท่านั้น ห้ามจอดแวะเพื่อแบ่งขายเครื่องสำอางระหว่างทาง
สุขลักษณะ และสุขอนามัย สำหรับสถานที่แบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ
- ต้องจัดให้มีบริเวณหรืออุปกรณ์การทำความสะอาดมือ พื้นหรือบริเวณโดยรอบตามความเหมาะสม
- บริเวณที่ทำการแบ่งบรรจุเพื่อขาย ณ จุดบริการ ต้องจัดให้เป็นระเบียบ สะอาด ไม่มีสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีสิ่งสกปรก

- เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมถึงอุปกรณ์การจ่าย และหัวจ่ายเครื่องสำอาง (Dispenser) ต้องทำจากวัสดุที่เหมาะสม และไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเครื่องสำอาง ไม่ดูดซึม และไม่หลุดลอกติดกับเครื่องสำอาง กรณีที่เครื่องสำอางมีโอกาสอุดตันที่หัวจ่าย ต้องมีอุปกรณ์สำหรับสูบ หรือดันเครื่องสำอางที่อุดตันออกจากเครื่องหรืออุปกรณ์การจ่ายเครื่องสำอาง (plunger)
- เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมถึงอุปกรณ์การจ่าย และหัวจ่ายเครื่องสำอาง (Dispenser) ติดตั้งมั่นคง แข็งแรง ไม่ชำรุดเสียหาย แตกหัก หรือบุบสลาย
สุขลักษณะ และสุขอนามัย สำหรับเครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์การแบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ
- เครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์การจ่าย และหัวจ่ายเครื่องสำอาง ต้องสะอาดและจัดเก็บอย่างเป็นสัดส่วนไว้ในที่ที่สะอาด
- มีการทำความสะอาดที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน และบุคลากรต้องได้รับการฝึกอบรมให้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

- ภาชนะบรรจุที่นำมาใช้รองรับเครื่องสำอางจากเครื่องหรืออุปกรณ์การจ่ายเครื่องสำอางต้องเป็นภาชนะบรรจุที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่แตกหัก ชำรุด ต้องปิดสนิท ไม่เกิดการหกรั่วไหลภายหลังจากการบรรจุหรือเติมเครื่องสำอาง ในกรณีที่มีฉลากจากภาชนะบรรจุเดิมจะต้องนำเอาฉลากออก หรือปิดฉลากใหม่ทับฉลากเดิม
- ภาชนะบรรจุที่นำมาใช้รองรับเครื่องสำอางที่แบ่งบรรจุเพื่อขาย ณ จุดบริการ ต้องมีลักษณะ ดังนี้
1. ภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด และแห้ง
2. ห้ามใช้ภาชนะที่บรรจุสารอันตรายมารองรับเครื่องสำอางที่แบ่งบรรจุเพื่อขาย ณ จุดบริการ
3. จุดบริการอาจมีบริการทำความสะอาดให้ เช่น มีขวดที่ทำความสะอาดแล้วพร้อมให้เปลี่ยน หรือมีอุปกรณ์ทำความสะอาด ณ จุดบริการ เป็นต้น - ภาชนะที่ทำด้วยวัสดุพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น Polyethylene terephthalate (PET), High density polyethylene (HDPE) และ Polypropylene (PP) สังเกตจากสัญลักษณ์บนภาชนะ

- เครื่องสำอางรอการแบ่งบรรจุ ณ จุดบริการ (Bulk product for refill) ต้องอยู่ในภาชนะบรรจุที่มาจากผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าเครื่องสำอาง และมีฉลากครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอางว่าด้วยเรื่องฉลากของเครื่องสำอาง
ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งถ่าย หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุ เนื่องจากภาชนะบรรจุที่มาจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่สามารถใช้กับเครื่องหรืออุปกรณ์การจ่าย และหัวจ่ายเครื่องสำอาง (Dispenser) ได้ ผู้แบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ ต้องจัดทำฉลากให้ครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอางว่าด้วยเรื่องฉลากของเครื่องสำอาง
ทั้ง ฉลากของเครื่องสำอางรอการแบ่งบรรจุ และ ฉลากของเครื่องสำอางที่แบ่งบรรจุเพื่อขาย ณ จุดบริการ ที่ขายในประเทศต้องจัดหรือติดแสดงไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นและอ่านได้ชัดเจนที่เครื่องสำอาง (Refill cosmetics) หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง ที่สำคัญต้องใช้ข้อความภาษาไทย และมีขนาดที่สามารถอ่านได้ชัดเจน อาจมีข้อความอื่นหรือมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ โดยต้องระบุข้อความ ดังต่อไปนี้
ฉลากของเครื่องสำอางรอการแบ่งบรรจุ
- ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า
- ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง
- ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
- วิธีใช้
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต (กรณีผลิต)
- ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศผู้ผลิต (กรณีนำเข้า)
- ปริมาณสุทธิ
- เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต
- เดือน ปี ที่ผลิต / ปี เดือน ที่ผลิต
- เดือน ปี ที่หมดอายุ / ปี เดือน ที่หมดอายุ
- คำเตือน (ถ้ามี)
- เลขที่ใบรับจดแจ้ง

- ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า
- ชื่อผู้ผลิต (กรณีผลิต) ชื่อผู้นำเข้า (กรณีนำเข้า)
- ชื่อและที่ตั้งของสถานที่แบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ
- เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตของเครื่องสำอางรอการแบ่งบรรจุ
- เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิตของเครื่องสำอางรอการแบ่งบรรจุ
- วัน เดือน ปี หรือ ปี เดือน วัน ที่แบ่งบรรจุเครื่องสำอาง
- วิธีใช้
- ปริมาณสุทธิ
- QR code ที่แสดงข้อมูลของฉลากเครื่องสำอางตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่องฉลากของเครื่องสำอาง พ.ศ. 2562

กรณีที่ผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอาง ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 14 วรรคสาม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
เครื่องสำอางรีฟิลยังคงเป็นเรื่องที่ใหม่กับผู้บริโภคชาวไทย แต่มีแนวโน้มที่มองเห็นได้ว่าจะเติบโตขึ้น ทั้งนี้ ทางภาครัฐเองก็มีนโยบายที่สนุบสนุนความยั่งยืนด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง TNP คิดว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางสีเขียวที่มีความยั่งยืนจะทำให้วงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศไทยก้าวขึ้นสู่วงการโลกได้อย่างแน่นอน
ที่มา
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอาง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแบ่งบรรจุเครื่องสำอางเพื่อขาย ณ จุดบริการ (Refill station) พ.ศ. 2566
ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอางที่แบ่งบรรจุเพื่อขาย ณ จุดบริการ (Refill station) พ.ศ. 2566