โบกมือลา 4 สิวตัวร้าย! เปลี่ยนหน้าพังเป็นหน้าปัง

Last updated: 10 พ.ค. 2566  |  1111 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โบกมือลา 4 สิวตัวร้าย! เปลี่ยนหน้าพังเป็นหน้าปัง

โบกมือลา 4 สิวตัวร้าย! เปลี่ยนหน้าพังเป็นหน้าปัง สิวฮอร์โมน สิวแบคทีเรีย สิวเชื้อรา สิวสเตียรอยด์


     แทบทุกคนล้วนเคยประสบกับปัญหา “สิว” ไม่ว่าจะมากน้อยก็ตามก็ล้วนเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดใจเมื่อพบเห็น การกำจัดสิวบนผิวจึงเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา แต่จะกำจัดสิวได้ถูกจุดก็ต้องรู้ก่อนว่าสิวที่เกิดขึ้นบนหน้าเรานั้นเป็นประเภทไหน TNP จะมาอธิบายถึงลักษณะและวิธีการดูแลของ 4 สิวตัวร้าย ได้แก่ สิวฮอร์โมน สิวแบคทีเรีย สิวเชื้อรา และสิวสเตียรอยด์ มาเปลี่ยนหน้าสิวเป็นผิวใสกันค่ะ!



 1. สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) 

สิวฮอร์โมนเกิดจากความผันผวนของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดชีวิต เช่น การตกไข่ การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน หรือโรคประจำตัว เช่น ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)

ฮอร์โมนที่เป็นตัวการสำคัญ คือ แอนโดรเจนและเทสโทสเตอโรน





แอนโดรเจน (Androgens) เป็นฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนนี้สามารถกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผลิตน้ำมันส่วนเกินขึ้นมามากเกินไป ซึ่งน้ำมันจะเป็นอาหารเลี้ยงแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ทำให้เชื้อเติบโตมากเกินไปและอุดตันรูขุมขน


เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนที่มีทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน เมื่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเพิ่มสูงขึ้น จะกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ส่งผลให้มีหน้ามันเป็นพิเศษ สามารถเกิดสิวได้ง่าย


ในวัยที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่เมื่อมีสิวผดเกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะฮอร์โมนได้ เนื่องจากช่วงวัยนี้ฮอร์โมนมีความแปรปรวนจนทำให้เกิดสิว ในผู้หญิงจะสังเกตได้ง่ายในช่วงรอบเดือน สิวฮอร์โมนจะขึ้นมามากกว่าปกติเนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวน มักจะเรียกกันว่า “สิวประจำเดือน” ส่วนผู้ชายจะเป็นสิวฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น หลังจากอายุ 20 ปี สิวก็จะค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้หากพ่อแม่เคยเป็นสิวหนักๆ มาก่อนก็สามารถส่งต่อพันธุกรรมนี้ไปยังลูกได้เช่นกัน สาเหตุอื่นๆ ที่มีผลต่อฮอร์โมน เช่น ความเครียด การอดนอน ยาปรับฮอร์โมน และภาวะ PCOS


ลักษณะของสิวฮอร์โมน: มีตุ่มสีแดงขนาดเล็ก สังเกตเห็นได้ตามแนวกราม คาง คอ หรือแก้ม


การรักษาและดูแลสิวฮอร์โมน

ยาคุมกำเนิดผู้หญิง (Birth control pill)

ยาคุมกำเนิดในผู้หญิงสมัยนี้นอกเหนือจากความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถช่วยรักษาระดับฮอร์โมนให้คงที่และลดฮอร์โมนเพศชายได้ ในหลายๆ ยี่ห้อจะมีคุณสมบัติช่วยลดสิวรวมอยู่ด้วย การเลือกซื้อให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่

อนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids)

แบบที่เป็นยาแต้มสิว เช่น Tretinoin, Adapalene และ Tazarotene รักษาสิวฮอร์โมนที่อุดตันและอักเสบ แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว ผิวแห้ง และผิวไวต่อแสง
แบบที่เป็นสกินแคร์แต้มสิว เช่น Retinal หรือ Retinol ดูแลสิวอุดตันและอักเสบ อ่อนโยนกว่ายา ใช้เวลาเห็นผลนานกว่ายา

ซาลิไซลิกแอซิด (Salicylic acid)

การดูแลสิวฮอร์โมนควรทำอย่างสม่ำเสมอ ใช้สกินแคร์ควบคู่ไปกับยารักษาสิว เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่มีส่วนผสมของซาลิไซลิกแอซิด ไม่ควรใช้พร้อมเรตินอยด์ให้สลับวันกันใช้เพื่อลดการระคายเคือง ซาลิไซลิกแอซิดจะช่วยยับยั้งสิว ผลัดเซลล์ผิวใหม่ ให้ผิวเรียบเนียน

ให้ความชุ่มชื้นผิว (Moisturizer)

ผิวที่แห้งจากการใช้ยา ควรบำรุงด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ช่วยเติมเต็มความชุ่มชื้นให้กับผิว ดูแลเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรง เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของสารอุดตันรูขุมขน (non-comedogenic)

กิจวัตรประจำวัน (Skincare routine)

-ล้างหน้าทุกวันในตอนเช้าและเย็น
-ใช้ครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกเช้า
ผลิตภัณฑ์รักษาสิวใด ๆ ควรใช้ในปริมาณเท่าเมล็ดถั่ว การทามากเกินไปอาจทำให้ระคายเคืองและทำให้ผิวแห้ง

ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle)

-นอนหลับให้เพียงพอในแต่ละคืน
-เครียดให้น้อยที่สุด 
-ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ลดการดื่มนมและน้ำตาล เนื่องจากนมอาจทำให้สิวอักเสบแย่ลงโดยการกระตุ้นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในบางคน นมไร้ไขมันและนมพร่องมันเนย เพราะการเอาไขมันออกจากผลิตภัณฑ์นมเข้มข้นจะทำให้พวกมันดูดซึมได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ฮอร์โมนพุ่งสูงขึ้นซึ่งกระตุ้นให้เกิดสิว


Did You Know รู้หรือไม่?
อาหารที่มีน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จากนมบางชนิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาล รวมไปถึงเครื่องสำอางที่มีสารก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน เช่น Lanolin, Petrolatum, Vegetable oils, Butyl stearate, Lauryl alcohol, และ Oleic acid อาจมีส่วนทำให้เกิดสิวได้



 2.สิวแบคทีเรีย (Bacterial Acne) 

สิวแบคทีเรียเกิดจากการรวมตัวกันของแบคทีเรียรอบๆ รูขุมขน จากนั้นแบคทีเรียได้เจริญเติบโตมากจนเกินไป ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่รูขุมขนและบริเวณโดยรอบ สาเหตุที่แบคทีเรียมีมากเกินไปเกิดจากไมโครไบโอมบนผิวไม่สมดุล เชื้อสิวจึงได้โอกาสบุกขึ้นมาได้


Cutibacterium acnes
แบคทีเรียสิว หรือ C. acnes ชื่อเดิมคือ P. acnes เป็นแบคทีเรียแกรมบวก กินน้ำมันที่ผิวผลิตออกมาเป็นอาหาร โดยปกติแล้วผิวที่สุขภาพดีจะมีการทำงานปกติและระบบไมโครไบโอมบนผิวสมดุล ส่วนผิวมีปัญหาเกิดจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วไปจับตัวกับน้ำมันส่วนเกินจากต่อมไขมันสะสมเป็นก้อนแข็งอุดตันรูขุมขนจนกลายเป็นสิวอุดตัน เมื่อไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังไม่สามารถระบายออกได้รูขุมขนจึงเกิดสภาวะขาดออกซิเจนทำให้เชื้อแบคทีเรีย C. acnes เจริญเติบโตได้ดี ระหว่างที่แบคทีเรียกำลังกินอาหารจะปล่อยเอนไซม์ออกมาเพื่อทำลายเซลล์ผิวไปด้วยนั่นเอง ทำให้เซลล์ผิวหนังไม่แข็งแรง เกิดการอักเสบได้ง่าย


สิวแบคทีเรียจะเกิดแบบสุ่ม คาดเดาไม่ได้ อาจเกิดจากการทานอาหารที่มันเยิ้ม คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล หรืออาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า6 เป็นจำนวนมาก ร่างกายจะเกิดการอักเสบและเกิดสิว การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศสูงก็ส่งผลให้พบเจอแบคทีเรียได้มากเกิดการอุดตันรูขุมขนได้ง่าย



ลักษณะของสิวแบคทีเรีย: มีตุ่มนูนแดงขนาดเล็ก หรือมีตุ่มหนองด้วย หากมีการอักเสบมากจะมีก้อนบวมแดงขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง


การรักษาและดูแลสิวแบคทีเรีย

สิวแบคทีเรียดูแลรักษาคล้ายกับสิวฮอร์โมน มีจุดที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)

เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ หรือ BPO เป็นยารักษาสิวที่มีประสิทธิภาพ มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยขจัดสิ่งสะสมในรูขุมขน ทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ โดยทั่วไปสิวแบคทีเรียมักมาในรูปแบบของสิวหัวขาวและสิวหัวดำ เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มักเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสิวประเภทนี้


เรตินอยด์ (Retinoids)

อนุพันธ์วิตามินเอช่วยลดการอักเสบต่างๆ ที่เกิดจากแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่ ขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขน ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และลดการผลิตน้ำมันส่วนเกิน


ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

ในกรณีที่รุนแรง ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน เช่น Doxycycline และ Azithromycin สามารถช่วยต่อสู้กับการแพร่กระจายของแบคทีเรียได้ ควรใช้ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าอื่นๆ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนทาน


ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การล้างหน้าเช้า-เย็น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหน้า ขัดผิดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว เช่น แสงแดดจัด สารเคมี มลภาวะพิษ จะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียลงได้


Did You Know รู้หรือไม่?

สิวฮอร์โมนเกิดได้บ่อยและรุนแรงกว่าสิวแบคทีเรีย หากผิวมีสิวเรื้อรังเกิดขึ้นมีโอกาสที่จะเป็นสิวฮอร์โมนมากกว่าสิวแบคทีเรีย นอกจากนี้สิวทั้ง 2 แบบสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ เมื่อเกิดสิวฮอร์โมนขึ้นมา สิวแบคทีเรียมักจะเกิดตามมา




 3.สิวเชื้อรา (Fungal Acne) 

สิวเชื้อราหรือสิวยีสต์เกิดจากการอักเสบและการติดเชื้อในรูขุมขน โดยมีเชื้อราหรือยีสต์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Malassezia เป็นตัวการสำคัญในการเกิดสิวชนิดนี้ มักเกิดบริเวณหน้าอก แผ่นหลัง และพบได้ที่คอ ไหล่ และใบหน้าได้ด้วยเช่นกัน ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสิวประเภทนี้ ได้แก่ อากาศร้อนชื้น ความอ้วน ผิวมัน ความเครียด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง พักผ่อนน้อย หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีรูขุมขนอุดตันจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว


Malassezia species

สิวเชื้อรามาลาสซีเซีย เป็นเชื้อราประเภทยีสต์ พบได้ที่ผิวหนังของทุกคน แต่หากเชื้อมีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น เกลื้อน โรครังแคอักเสบ รวมทั้งโรครูขุมขนอักเสบ เป็นต้น



ลักษณะสิวเชื้อรา: มีผื่นแดงเม็ดเล็กๆ ขนาดใกล้เคียงกัน และอาจมีตุ่มหนองร่วมด้วย แต่ไม่มีลักษณะของสิวอุดตัน (comedones) มีอาการคัน


การรักษาและดูแลสิวเชื้อรา

ยาต้านเชื้อรา (Antifungal medications)

ยาที่เหมาะสมในการรักษาจะเป็นยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาทาผิวหนัง และยารับประทาน โดยการรักษามักเริ่มด้วยยารับประทาน เช่น Miconazole เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาทา หลังจากที่ผื่นหายแล้วเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยา Selenium sulfide


ทำความสะอาดถูกวิธี

หลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกให้อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อ ใช้แชมพูขจัดรังแคหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีสาร Zinc pyrithione หรือสาร Selenium sulfide เป็นส่วนผสม ฟอกให้ทั่วร่างกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ควรใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่รัดแน่นจนเกินไป และไม่แกะ เกาบริเวณสิวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อรา



 4.สิวสเตียรอยด์ (Steroid Acne) 

สิวสเตียรอยด์ หรือสิวติดสาร มีสาเหตุมาจากการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน การฉีดเข้าผิว การกินยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ รวมไปถึงการสูดดม สเตียรอยด์จะทำให้ต่อมไขมันไวต่อการอักเสบและติดเชื้อ ในบางรายจึงมีการติดเชื้อรา Malassezia folliculitis เกิดเป็นสิวเชื้อราขึ้น



ลักษณะสิวสเตียรอยด์: มีทั้งสิวหัวดำและขาว มีตุ่มแดงและตุ่มหนองอักเสบ ในบางครั้งมีตุ่มก้อนสีแดงบวมขนาดใหญ่ร่วมด้วย


การรักษาและดูแลสิวสเตียรอยด์

ยาต้านเชื้อรา (Antifungal)

หากมีสิวเชื้อราร่วมด้วย รักษาด้วยยาต้านเชื้อรา เช่น Itraconazole (ไอทราโคนาโซล) เป็นยาในกลุ่มยาต้านเชื้อรา ยับยั้งการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์และการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณต่าง ๆ

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

ยาในกลุ่ม tetracycline เช่น  doxycycline, minocycline และ tetracycline สำหรับสิวสเตียรอยด์ระดับปานกลางจนถึงรุนแรง ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบอีกด้วย การใช้ยากลุ่มนี้ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชเนื่องจากมีความเสี่ยงที่เชื้อจะเกิดการดื้อยา

เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)

เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์เป็นยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพมากช่วยต้านเชื้อสิวและลดการอักเสบ เหมาะสำหรับอาการที่ไม่รุนแรงมาก

เรตินอยด์ (Retinoids)

เรตินอยด์ หรือกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ เช่น tretinoin, adalpene, tazarotene, retinol ทำงานโดยช่วยสร้างเซลล์ผิวที่แข็งแรงและลดการอักเสบ เหมาะสำหรับอาการสิวที่ไม่รุนแรง ไม่ควรใช้ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร


Did You Know รู้หรือไม่?

สิวสเตียรอยด์สามารถหายเองได้เมื่อหยุดใช้สเตียรอยด์ แต่หากจำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ในการรักษาหรือเพื่อป้องกันผลร้ายแรงอื่นๆ แนะนำให้เข้ารับการรักษาสิวควบคู่การใช้สเตียรอยด์


     สิวฮอร์โมน สิวแบคทีเรีย สิวเชื้อรา และสิวสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะสิวประเภทไหนล้วนทำให้ผู้เป็นมีปัญหาหนักใจ แต่หากดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็ช่วยให้ผิวกลับมาเรียบเนียนได้ ไม่ว่าจะเป็นยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัช การใช้สกินแคร์ร่วมดูแล การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องทำพร้อมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อยากได้สกินแคร์ดูแลผิวเป็นสิวโดยเฉพาะติดต่อ TNP COSMECEUTICAL ได้เลยค่ะ เราพร้อมให้คำปรึกษาและบริการอย่างจริงใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้