รู้ไหม? ค่าปกป้องผิวของคน แต่ละทวีป #ไม่เท่ากัน

Last updated: 28 เม.ย 2566  |  17371 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ไหม? ค่าปกป้องผิวของคน แต่ละทวีป #ไม่เท่ากัน

รู้ไหม? ค่าปกป้องผิวของคน แต่ละทวีป #ไม่เท่ากัน

 

 ความหลากหลายทางเชื้อชาติ พันธุกรรม ลักษณะภูมิประเทศที่อาศัยอยู่ บางพื้นที่แทบไม่เจอแดด บางพื้นที่มีแดดจัดตลอดทั้งปี สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนในแต่ละทวีป แต่ละภูมิภาคมีระดับสีผิวที่แตกต่างกันออกไป

ในบทความนี้ เราจะพามาทำความเข้าใจ สีผิวของคนเรา มีทั้งหมดกี่ระดับ? และระดับสีผิวมีผลต่อการปกป้องผิวจากแสงแดดมากน้อยเพียงใด? แต่ก่อนอื่นมารู้จักกับจุดเริ่มต้นการเกิดสีผิวกัน

 

 สีผิวเกิดจากเมลานิน (Melanin) ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ผลิตอยู่ในชั้นผิวหนัง แบ่งออกเป็นสองชนิด ได้แก่ ฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) เป็นเม็ดสีโทนส้มแดง หรือสีเหลือง และ ยูเมลานิน (Eumelanin) เป็นเม็ดสีที่มีสีดำ หรือสีน้ำตาล ซึ่งสัดส่วนของเม็ดสีสองชนิดนี้ในชั้นผิวหนัง จะเป็นตัวกำหนดสีผิวของคนเราว่าจะเป็นผิวสีเข้มหรือผิวสีอ่อน

ซึ่งคนที่ผิวขาว จะมีปริมาณฟีโอเมลานินมากกว่ายูเมลานิน ทำให้ผิวมีความขาวกระจ่างใส ในขณะที่คนผิวเข้ม จะมีปริมาณยูเมลานินมากกว่าฟีโอเมลานิน ส่งผลให้สีผิวออกไปในโทนน้ำตาลจนถึงน้ำตาลเข้มเกือบดำสนิท

 

 Fitzpatrick Skin Phototype คือ การจำแนกระดับของสีผิวคนเรา คิดค้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังชาวอเมริกัน โทมัส บี. ฟิตซ์แพทริก ในปี ค.ศ.1975 และนิยมใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานสีผิวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแบ่งระดับสีผิวออกเป็น 6 ระดับ ประกอบไปด้วย

 type 1  ฝรั่งเรียกว่า Ivory skin เป็นโทนผิวขาวที่สุด เป็นสีผิวส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่สภาพอากาศหนาวเย็น แถบสแกนดิเนเวีย ทางตอนเหนือของยุโรป

 type 2  โทนผิวขาว แต่ดรอปลงมาจาก Ivory skin มีความอมชมพู ดูมีเลือดฝาดบนผิวมากขึ้น เป็นสีผิวของคนยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย 

 type 3  โทนผิวขาวเหลืองที่เราคุ้นชินกันเป็นอย่างดี มักเป็นสีผิวของคนเอเชียที่มีผิวขาว เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปทางตอนใต้ 

 type 4   เพิ่มความคมเข้มอีกหนึ่งระดับ กับ Olive skin หลายคนรู้จักในชื่อ คนผิวสองสี ผิวสีน้ำผึ้ง โดยเป็นสีผิวของคนท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน เช่น แอลจีเรีย 

 type 5  ผิวสีน้ำตาล มีเม็ดสียูเมลานินสูง ทนแสงแดด ทำให้คนกลุ่มนี้มีผิวสีเข้ม เช่น ทวีปอเมริกาใต้ ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมไปถึงคนอินเดีย 

 type 6  เป็นโทนสีผิวเข้มที่สุด มีเม็ดสีหนาแน่น ทำให้สีผิวค่อนไปทางน้ำตาลเข้มเกือบดำสนิท พบในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกา และคนแอฟริกันอเมริกัน

ที่มาภาพ : browdesignbydina

หลังจากที่เข้าใจลักษณะสีผิวตาม Fitzpatrick Skin Phototype เรียบร้อยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ คือ UV Index ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดความเข้มข้นของรังสี UV ที่แผ่ลงมาบนพื้นโลก เพราะความแรงของรังสี UV มีผลต่อระยะเวลาการทนแสงแดดของผิวหนังโดยตรง

 

จะเห็นว่า ยิ่งค่า UV Index สูง ยิ่งเป็นอันตรายต่อผิวได้ง่าย ถ้าหากไม่ปกป้องผิวให้เพียงพอ ก็อาจเผชิญปัญหาผิวไหม้แดด สีผิวหมองคล้ำ ผิวแลดูแก่กว่าวัย รวมไปถึงโรคมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าแดดในเมืองไทย มีค่าเฉลี่ย UV Index อยู่ที่ 11 – 12 และในบางพื้นที่ อาจมีค่า UV Index สูงถึง 13+ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมากๆ 

มาดูกันว่า สีผิวคนในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน คนฝรั่ง คนแขก คนแอฟริกา เมื่อเจอรังสี UV ความเข้มข้นสูงๆ และสภาพอากาศเมืองไทย สีผิวแบบไหน จะทนแดดได้นานที่สุด

จากตารางข้างต้น  คนอินเดีย อเมริกาใต้ และทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็น Skin Phototype 5 และ 6 ที่มีผิวสีเข้ม สามารถทนแดดได้นานกว่าสีผิวอื่นๆทั้งหมด ในขณะที่คนผิวขาวโซนสแกนดิเนเวีย Skin Phototype 1 เกิดอาการผิวไหม้แดดได้ง่ายที่สุด

สรุปว่า ระดับสีผิวมีผลต่อการปกป้องผิวจากแสงแดด ยิ่งมีผิวสีเข้ม ก็จะยิ่งทนต่อรังสียูวี ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ผิวสีเข้มจะมีปริมาณยูเมลานิน (Eumelanin) ในชั้นผิวมาก ซึ่งเป็นเม็ดสีผิวที่ช่วยดูดซับแสง UV และทำให้แสงกระจายตัวออกไป ทำให้ผิวหนังป้องกันรังสี UV ได้ดีกว่าคนผิวขาวนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้