R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.26 กระบวนการผลิตเครื่องสำอาง (Production Process)

Last updated: 8 ม.ค. 2567  |  2345 จำนวนผู้เข้าชม  | 

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.26 กระบวนการผลิตเครื่องสำอาง (Production Process)

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.26 กระบวนการผลิตเครื่องสำอาง (Production Process)

     กว่าจะมาเป็นเครื่องสำอางที่อยู่ในมือผู้บริโภค สินค้าจะต้องผ่านกระบวนการที่เข้มงวดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ใน EP. 26 นี้ TNP ได้สรุปกระบวนการผลิตเครื่องสำอางแบบเข้าใจง่าย เริ่มตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค



1. ข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Product Brief)

ขั้นตอนแรกจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมการตลาดและทีมนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือที่เรียว่า R&D หรือ RD ในข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น คอนเซ็ปต์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ ลักษณะ สี กลิ่น สารสำคัญ สรรพคุณ คำกล่าวอ้าง ผลิตภัณฑ์คู่แข่ง บรรจุภัณฑ์ ราคา กลุ่มตลาด เป็นต้น ซึ่ง RD จะกำหนดขอบเขตที่เป็นไปใด้ของเครื่องสำอาง จุดที่ควรปรับปรุงแก้ไข ดูความเป็นไปได้ในการผลิตจริง และราคาต้นทุน ที่สำคัญผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้และมีนวัตกรรมที่ทันเทรนด์ตลาด



2. ค้นคว้าและทดลอง (Research & Experiment)

RD ทำการค้นหาส่วนผสมที่เหมาะสมและเปอร์เซ็นต์ที่ใช้ในสูตร ดูความเหมาะสมในเรื่องของราคาและปริมาณสารทั้งหมดที่ใช้เมื่อมีการผลิตจริง เมื่อได้สูตรทดลองที่มาจากทฤษฎีแล้วก็จะมีการทดลองในห้องปฏิบัติการ (laboratory scale) เป็นการขึ้นตัวอย่างเนื้อผลิตภัณฑ์ในบีกเกอร์ทดลอง ผลิตออกมาในปริมาณน้อยประมาณ 100 - 200 กรัม เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสูตรเครื่องสำอางว่าเป็นไปตามทฤษฎีที่คิดไว้หรือไม่



3. ทดสอบและเสนอแนะ (Test & Feedback)

พอได้เนื้อผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจาก RD ขั้นตอนถัดมาคือต้องทดสอบเนื้อผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพเบื้องต้น (in-house) ขั้นตอนนี้จะค่อนข้างใช้เวลานาน เพราะอาจจะมีการปรับสูตรจนกว่าจะได้สูตรแม่บทที่พร้อมผลิตสินค้า



4. สูตรแม่บท (Master Formula)

หลังจากทดสอบและสรุปสูตรจนได้สูตรแม่บทที่จะใช้ผลิตเรียบร้อยแล้ว RD จะทำการทดลองอีกครั้งเพื่อหาวิธีการหรือกระบวนการในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการขยายการผลิต (scale up) หรือวางแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้กระบวนการผลิตสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยมีการจัดทำเอกสารการผลิตเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตทำการผลิตและควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามที่กำหนดทุกครั้งหากมีการร้องเรียนจะได้สามารถตรวจสอบและหาสาเหตุได้ เอกสารสูตรแม่บทมีรายละเอียด ดังนี้

- ชื่อผลิตภัณฑ์
- ชนิด จำนวน และปริมาณของวัตถุดิบและวัสดุการบรรจุที่ใช้ทั้งหมด
- ข้อแนะนำในการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษา เครื่องสำอางรอการบรรจุ และเครื่องสำอางสำเร็จรูป
- ผลผลิตที่ได้ตามทฤษฎี และค่าเบี่ยงเบนที่ยอมรับให้มีได้



5. เอกสารที่เกี่ยวข้อง (Documentation)

เมื่อลูกค้ายืนยันการผลิตจึงทำการจดแจ้งเครื่องสำอางอย่างถูกต้อง แล้วตรวจสอบข้อมูลฉลากให้เป็นไปตามใบรับจดแจ้งและกฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง หลังจากนั้นออกเอกสารแสดงข้อมูลความปลอดภัย (material safety data sheet: MSDS) และเอกสารข้อกำหนด (specification) ของวัตถุดิบ วัสดุบรรจุ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป



Did you know รู้หรือไม่?
ก่อนการผลิตเนื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อจำหน่ายสูตรใหม่ จะต้องจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำเร็จรูปทุกชนิดหรือผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีลักษณะบรรจุในถังใหญ่ (bulk) จัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง จะต้องมาจดแจ้งรายละเอียดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนผลิตหรือนำเข้าเพื่อขาย โดยดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการจดแจ้งรายละเอียด และต้องมีหน้าที่รับผิดชอบผลิตหรือนำเข้าหรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค



6. การทดสอบความคงตัว (Stability Testing)

วัตถุประสงค์ของการทดสอบความคงตัวในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคือ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ ผลิตภัณฑ์สูตรปรับปรุงหรือดัดแปลง เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพทางกายภาพ เคมี และจุลชีววิทยา ตลอดจนการใช้งานและความสวยงามของผลิตภัณฑ์เมื่อเก็บไว้ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม โดยการทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งทางกายภาพและเคมี จะมีการทดสอบหลายสภาวะ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะสิ้นอายุ หรือการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ผ่าน (rejected) เช่น การแยกชั้น เนื้อ สี กลิ่น pH และความหนืดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีเชื้อจุลินทรีย์เกินกำหนด เกิดการรั่วซึมเมื่อทดสอบกับบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น



7. การทดสอบผู้บริโภค (Consumer Testing)
เป็นการศึกษาหาความชอบหรือการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ขั้นตอนนี้มีค่าใช่จ่ายที่สูง แต่ก็แลกเปลี่ยนมากับข้อมูลเชิงลึกที่จะได้รับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นแบบทดสอบความรู้สึกของผู้ทดสอบในแง่ความชอบ หรือการยอมรับต่อผลิตภัณฑ์ การกำหนดกลุ่มผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอยก็จะเลือกกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุและมีปัญหาผิวริ้วรอย เป็นต้น



8. การทดสอบทางคลินิก (Clinical Testing)

การทดสอบทางคลินิกมีเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยเป็นการทดสอบในคน (in vivo) เช่น ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เคลม SPF50+ PA+++ จำเป็นต้องได้รับการทดสอบเพื่อยืนยันค่า SPF และ PA ซึ่งสามารถทดสอบแบบ in vivo ได้ หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เคลมผ่านการทดสอบการระคายเคืองโดยแพทย์ผิวหนัง จำเป็นต้องมีผลทดสอบ dermatologically tested รวมไปถึงการทดสอบประสิทธิภาพต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ โดยการทดสอบทางคลินิกจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการทดสอบแบบ in vitro






9. การผลิตเพื่อจำหน่าย (Commercial Scale)

เป็นการขยายขนาดการผลิต (scale up) จากบีกเกอร์ทดลองสู่ถังผสม 100 - 1000 ลิตร หรืออาจมากกว่านี้ มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ กระบวนการ และเวลาในการผลิต เพื่อรองรับการผลิตเนื้อผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่มากขึ้น มีการชั่งส่วนผสมเตรียมไว้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มผลิต และระหว่างผลิตมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามกระบวนการผลิตและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต โดยการผลิตจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่กำหนดไว้ดังนี้




1).วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต จะต้องมีใบ Certificate of Analysis (COA) รับรองอย่างถูกต้อง เพื่อยืนยันคุณภาพของวัตถุดิบจากผู้ผลิตและผู้ขายก่อนการรับเข้า สุ่มตรวจวัตถุดิบเพื่อทวนสอบคุณภาพวัตถุดิบทางกายภาพ (physical test) เช่น สี กลิ่น ความหนืด และทางเคมี (chemical test) เช่น การปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ โลหะหนัก สารหนู เป็นไปตามข้อกำหนดของ COA วัตถุดิบก่อนนำไปผลิตสินค้า


2).บรรจุภัณฑ์ นอกจากจะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพของเครื่องสำอาง จึงต้องมีข้อกำหนดและวิธีทดสอบคุณภาพที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่เกิดการรั่วซึม หรือปิดไม่สนิท มีการทดสอบความสวยงาม รูปลักษณ์ภายนอกของบรรจุภัณฑ์ และการทดสอบเชิงคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ (leak test) เช่น เมื่อบรรจุลงบรรจุภัณฑ์แล้ว ไม่พบการรั่วซึม ปิดไม่สนิท หากเป็นหัวปั้ม หัวกด ต้องกดเนื้อออกมาได้


3).เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ก่อนเริ่มการผลิตทุกครั้งตรวจสอบความสะอาดและการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงการตรวจสุขลักษณะของพนักงานผลิตทุกคน ต้องสะอาดก่อนเข้าไลน์ผลิตทุกวัน


4).ระหว่างการผลิต ตรวจสอบการปนเปื้อนในเนื้อผลิตภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพจะควบคุมการผลิตให้ตรงตามสูตรมาตรฐานต้นตำรับของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ตั้งแต่การชั่ง การผสม การบรรจุ และการประกอบหีบห่อ รวมถึงการส่งตรวจเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ทั้งภายในและภายนอก


5).การทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ระยะยาว มีการเก็บตัวอย่าง (sample retention) สำหรับตรวจสอบ และติดตามผลทุกๆช่วง 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของเนื้อผลิตภัณฑ์ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามค่ามาตรฐาน


6).ฝ่ายควบคุมคุณภาพจะใช้การสุ่มตัวอย่างตามระบบ MIL-STD-105E เพื่อตรวจสอบจำนวนผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องตามข้อกำหนดคุณภาพที่ยอมรับได้ (Acceptance quality limit, AQL)  ก่อนนำส่งเข้าคลังสินค้าเพื่อจัดเก็บอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานที่กำหนด



ความแตกต่างระหว่าง Laboratory Scale และ Commercial Scale

1). เวลา

การทดลองในห้องปฏิบัติการจะใช้เวลาที่น้อยกว่าการผลิต เช่น ในการทดลองใช้บีกเกอร์ขนาด 250 ml ใช้เวลาในการเทสารลงไปผสมไม่นานก็เข้ากันได้ดี แต่การผลิตจริงใช้ถังผสม 300 ลิตร อาจจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมงจนถึงหลายชั่วโมงในการเติมสารต่าง ๆ ลงไปจนครบถ้วน ส่วนการให้ความร้อน (heating) และการหล่อเย็น (cooling) ในห้องปฏิบัติการอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที แต่การผลิตจริงจะใช้เวลานานหลายชั่วโมงหรือข้ามคืนจนกว่าอุณหภูมิจะถึงระดับที่กำหนดไว้อย่างทั่วถึง และใช้เวลานานกว่าจะคลายร้อนกลับมาที่อุณหภูมิห้อง รวมไปถึงการทำปฏิกิริยากันของสาร อย่างเช่น การทำเนื้อครีมที่มีลักษณะสีขาวมุกโดยการทำปฏิกิริยา sponification ในห้องปฏิบัติการจะใช้เวลาเพียง 1 วันก็เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ในการผลิตเพื่อจำหน่ายอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง



2). ปัญหาด้านความปลอดภัย

การทดลองมีขนาดเล็กจะมีปัญหาด้านความปลอดภัยน้อย ส่วนการผลิตจริงจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารในปริมาณที่มากกว่าในห้องปฎิบัติการ ดังนั้น ความเสี่ยงและปัญหาด้านความปลอดภัยย่อมมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ในสูตรตำรับมีการใช้สารที่เป็นกรดมาก ๆ เช่น กรดไกลโคลิก หรือ สารที่เป็นด่างมาก ๆ และยังระเหยได้ เช่น โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ แม้จะใช้ในปริมาณน้อยกว่าสารอื่น ๆ ในสูตร แต่ก็เป็นอันตรายได้หากสารโดนผิวโดยตรง รวมไปถึงสารที่มีลักษณะเป็นฝุ่นผงที่อาจเกิดการฟุ้งกระจายเมื่อเทผสมเข้าไปในถังผสม หากมีการสูดดมเข้าไปอาจเกิดปัญหากับปอดได้ ดังนั้น อุปกรณ์ความปลอดภัยจึงสำคัญมากในการผลิต เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น



3). เครื่องมือในการผลิต

เครื่องมือผสมที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจะมีขนาดที่เล็กกว่าในการผลิตจริง ในห้องปฏิบัติการสามารถปรับความเร็วรอบในการผสม หรืออุณหภูมิที่ใช้ ย่อมใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ยิ่งการจะเพิ่มหรือลดอุณหภูมิก็ทำได้ง่ายเพราะบีกเกอร์สามารถเคลี่อนที่ได้ แต่ในการผลิตจริงนั้นถังผสมจะมีขนาดใหญ่มากและจะไม่มีการเคลี่อนที่อุปกรณ์ในระหว่างที่ทำการกวนผสมอยู่ การปรับลดอุณหภูมิก็ใช้เวลานานมากกว่า และกว่าจะผสมสารต่าง ๆ ให้เข้ากันก็ใช้เวลานาน ความเร็วรอบในการผสมก็ต้องมีการปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับการผลิตจริง

4). ของเสีย

ในห้องปฏิบัติการจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำในการทดลอง ไม่ว่าจะเป็นตัวทำละลาย รวมไปถึงการทำความสะอาด แต่สำหรับการผลิตจริงจะมีการใช้น้ำอย่างมากในระบบ เกิดเป็นของเสียปริมาณมาก จึงต้องมีการพัฒนาเพื่อลดปริมาณน้ำในกระบวนการผลิต




10. การจัดส่ง (Ship to Trade)

เมื่อผ่านการทดสอบทั้งหมด ผลิตภัณฑ์จะถูกขนส่งออกสู่ตลาด โดยการจัดส่งจะต้องมีความปลอดภัยต่อสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภันฑ์ก่อนถึงมือลูกค้า







เราวิจัยและพัฒนาสูตรเครื่องสำอางด้วยประสบการณ์วิจัยมายาวนานกว่า 10 ปี คัดสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้คุณเลือกมากกว่า 1,000 สูตร ให้สูตรเครื่องสำอางที่ TNP คิดค้น เป็นตัวเลือกสูตรพิเศษเฉพาะของคุณ เราใส่ใจผลลัพธ์ในทุกสูตรตำรับการดูแลผิวพร้อมตอบโจทย์การทำแบรนด์เครื่องสำอาง




1.ผลิตภัณฑ์กันแดด สกินแคร์ที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด มีครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Hybrid Sunscreen, Physical Sunscreen และ Chemical Sunscreen กันแดดได้จริง สัมผัสใหม่ของกันแดดไม่เหนียวเหนอะหนะ


2.ผลิตภัณฑ์กระจ่างใส ฝ้า กระ จุดด่างดำ ตั้งแต่หลับจนถึงตื่นนอน เรามีทุกสูตรที่ดูแลผิวทุกช่วงเวลา ไม่เร่งการผลัดเซลล์ผิวจนทำให้ผิวลอกแพ้ง่าย ผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อผู้ใช้  ให้ผิวสว่างกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ


3.ผลิตภัณฑ์ลดเลือนริ้วรอย ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ริ้วรอยแบบไหนเราก็เอาอยู่ เปลี่ยนร่องลึกให้ดูเรียบเนียนอ่อนเยาว์


4.ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น ตั้งแต่สเต็ปแรกของการบำรุงผิวต้องเริ่มด้วยความชุ่มชื้น รวมทุกสูตรความชุ่มชื้นทั้งผิวหน้า ผิวกาย


5.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ตั้งแต่หัวจรดเท้าให้เราดูแลคุณ มอบความสะอาดให้ผิวอย่างอ่อนโยน เลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ผิวสะอาดไม่มีสารตกค้าง


6.ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีสิว ทั้งก่อนเป็นสิว ช่วงเป็นสิว หรือหลังเป็นสิว ครบทุกการดูแลวงจรสิว จะสิวที่หน้าหรือสิวที่หลังก็หายได้ด้วยสูตรที่หลากหลายในการดูแลผิวที่เป็นสิวโดยเฉพาะ


7.ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผิว โดดเด่นด้านรองพื้น ปกปิดดีเยี่ยม ผิวไม่ดรอป พร้อมฟิกซ์ผิวให้เป๊ะตลอดวัน


8.ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ แชมพู ครีมนวดผม เซรั่มบำรุงผม สูตรพิเศษโดดเด่นกว่าใคร ให้ผมแข็งแรงสุขภาพดี


9.ผลิตภัณฑ์พอกผิว ชีทมาส์ก ครีมมาส์ก ผงมาส์ก มีทุกรูปแบบให้เลือกสรรค์ หลากหลายสูตรการบำรุงผิว


10.ผลิตภัณฑ์กัญชงกัญชา ตอบโจทย์พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ค้นหาและคัดเลือกจากแหล่งที่มีคุณภาพและถูกกฎหมาย นำมาประยุกต์ใช้กับทุกสูตรการดูแลผิว


11.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมสมุนไพรจากทั่วทุกมุมโลกให้เลือก เพื่อสูตรพิเศษของคุณ พร้อมผสานนวัตกรรมเนื้อเบสเข้ากับสมุนไพรเพื่อดึงประสิทธิภาพการบำรุงสูงสุด


12.ผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก ดูแลฟันทุกซี่ให้ขาวสะอาด ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก มีครบทุกการดูแล โดดเด่นด้วยเนื้อแบบใหม่ไม่โบราณ


13.ผลิตภัณฑ์เด็ก สูตรพิเศษสำหรับการดูแลผิวลูกรัก รวมทุกการดูแลตั้งแต่ทำความสะอาดหัวจรดเท้าอย่างอ่อนโยนไม่ระคายเคือง บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ลดรอยแดงจากยุงกัด และกันแดด ให้ผิวลูกรักสุขภาพดีคุณแม่ไว้วางใจ


14.ผลิตภัณฑ์เฉพาะจุด สร้างสรรค์แก้ปัญหาผิวเฉพาะที่อย่างอ่อนโยน ใต้วงแขน ข้อศอก จุดซ่อนเร้น หลังคอ จุดอ่อนโยนเฉพาะ ขาหนีบ ง่ามขา ร่องก้น แตกต่างตอบโจทย์ตลาดเฉพาะ เข้าถึงง่าย


ให้สูตรเครื่องสำอางที่ TNP คิดค้น เป็นตัวเลือกสูตรพิเศษเฉพาะของคุณ เราใส่ใจผลลัพธ์ในทุกสูตรตำรับการดูแลผิวพร้อมตอบโจทย์การทำแบรนด์เครื่องสำอาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้