แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางในสหรัฐอเมริกา 2566

Last updated: 8 ส.ค. 2566  |  2933 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางในสหรัฐอเมริกา 2566

     การระบาดของ COVID-19 เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของผู้คน ธุรกิจ และผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา โดยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอาง เริ่มหันมาใช้เครื่องสำอางที่มีความเรียบง่ายและยืดหยุ่นเข้ากับชีวิตประจำวันมากขึ้น

 

     เมื่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยน ย่อมส่งผลกระทบต่อเครื่องสำอางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หลายคนในสหรัฐอเมริกาที่ไม่เคยดูแลตัวเองได้หันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น มีการดูแลผิวและผมให้ดูดีขึ้น หรือในบางคนมีการหาข้อมูลในการดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้เครื่องสำอางไม่เคยหายไปในช่วงเกิดโรคระบาดเลย นอกจากนี้โซเชียลมีเดียอย่าง TikTok เองก็กลายเป็นแหล่งความรู้ในการหาข้อมูล มีการรีวิวเครื่องสำอาง และวิธีการดูแลตัวเองอย่างมากมาย ยอดการค้นหานับได้ว่ามหาศาล


     ก่อนเกิดการระบาด ผู้บริโภคซื้อสินค้าด้วยการสังเกต การสัมผัสสินค้าจริง และการดมกลิ่น แต่หลังจากเกิดการระบาด ผู้บริโภคหลั่งไหลสู่การซื้อสินค้าแบบออนไลน์มากขึ้นอย่างมหาศาล ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยการดูรีวิวผู้ใช้งานจริงและอินฟลูเอนเซอร์แทน ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินออกจากกระเป๋าได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้เครื่องสำอางแบรนด์เล็กๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้บริโภค ทำให้ในตลาดเครื่องสำอางมีความหลากหลายของสินค้า


พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป


1.ช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น
ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีการจับจ่ายซื้อของออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม ในกลุ่มเครื่องสำอางมีการเติบโตขึ้นมากกว่า 15%


2.Gen Y ผู้นำในการช้อปปิ้งออนไลน์
กลุ่มเจเนอเรชั่นนี้และกลุ่มผู้มีรายได้สูงกลายเป็นกลุ่มที่มีการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดทั้งสินค้าจำเป็นและไม่จำเป็น


3.ความภักดีต่อแบรนด์ที่แตกสลาย
วิกฤติจากโรคระบาดได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันถึง 75% ลองในสิ่งใหม่ๆ ทำให้ความภักดีต่อแบรนด์มีน้อยลง และเพื่อพวกเขาค้นพบสิ่งที่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแบรนด์ในชีวิตประจำวันไป โดยกลุ่ม Gen Z มีการเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุด


4.คุณค่าที่มาพร้อมสินค้า
ผู้บริโภคให้เหตุผลในการเปลี่ยนแบรนด์สินค้าไว้หลายประการ และหนึ่งในนั้นคือการบริการที่ดีจากผู้ขาย ความสะดวกสบาย และความคุ้มค้า โดยเครื่องสำอางนั้นๆ ต้องมีความโปร่งใส ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค


5.ไร้การสัมผัส
ผู้บริโภคในช่วง COVID-19 มีการจับจ่ายซื้อของออนไลน์ซึ่งเป็นการซื้อของแบบไร้การสัมผัส พอหลังโรคระบาดซาลงพฤติกรรมนี้ยังคงอยู่กับผู้บริโภค โดยผู้บริโภค 79% มีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าแบบไร้การสัมผัสต่อไปเพื่อสุขอนามัยส่วนตัวที่ดี



6.ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น
ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ประมาณ 40% ลดการใช้จ่ายโดยทั่วไปลง เลือกใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นมากกว่า ผู้บริโภคมีความคิดพิจารณาสิ่งของที่จะซื้อมากขึ้น สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อสถานะเศรษฐกิจในช่วงนึง


7.ใช้เวลากับตัวเอง
ช่วงที่งดออกจากบ้านเพราะต้องกักตัว ทำให้วิถีชีวิตของชาวอเมริกันเปลี่ยนไป เมื่ออยู่ในบ้านทำให้ผู้คนมีความสนใจในตัวเองมากขึ้นและหันมาดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น

 



     ภายหลังจากการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าเครื่องสำอาง นอกจากนี้ เทรนด์ความนิยมต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมาและได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะยังไปต่อได้อีกในอนาคต เช่น เทรนด์ความนิยมสินค้าจากธรรมชาติ (Vegan) ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีวัตถุดิบและส่วนผสมจากสัตว์ ตลอดจนไม่นำสัตว์มาใช้ในการทดลอง รวมทั้ง สินค้าคลีนจากธรรมชาติ (Clean Beauty) กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจาก สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ปลอดภัยและอ่อนโยนต่อผิวจึงทำให้สามารถใช้ได้กับผู้บริโภคในทุกเพศและทุกวัย


โดยเทรนด์หลักๆ แบ่งออกดังนี้

 

 

Beauty diversity

     ความหลากหลายในเรื่องความงามถือเป็นการยอมรับความสวยงามในรูปแบบที่แตกต่างกัน และเห็นค่าความสวยงามในทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามทางภูมิศาสตร์ เช่น เอเชีย ยุโรป แอฟริกา หรือความสวยงามทางกายภาพ เช่น รูปร่าง สีผิว ลักษณะเฉพาะตา และอื่นๆ อีกมากมาย ความหลากหลายในความสวยงามเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะทุกคนมีความเป็นเอกลักษณ์และความสวยงามที่ไม่เหมือนกัน และความหลากหลายนี้ทำให้เราเห็นความสวยงามในมุมมองที่แตกต่างกันได้ และยอมรับความสวยงามที่แตกต่างนั้นอย่างเต็มรูปแบบและเชื่อมโยงกันเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคม ดังนั้นเทรนด์นี้จึงส่งเสริมให้เรารักในสิ่งที่ตัวเองเป็นและยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น ไม่ควรมีใครถูกขีดเส้นความสวยงามด้วยอายุ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือชาติพันธุ์

เทรนด์ที่เกี่ยวข้อง : MiniMe, Multicultural beauty, Imperfect beauty, New aging, Gender fluidity, Power of Me

 

 

Healthy beauty

     การมองหาความงามที่สอดคล้องกับสุขภาพ อยู่ในกรอบของการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีของร่างกายภายในและภายนอก ในแง่ของความงามภายนอก กิจกรรมส่วนใหญ่เน้นไปที่การดูแลผิวหน้า, ผม, และผิวกาย ใช้วิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ, การบริโภคอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ, การรักษาความสะอาดของผิวหน้าและผม, การใช้เครื่องสำอางที่เป็นประโยชน์ต่อผิว และการทำทรีตเมนท์ที่มีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ ในทางกลับกัน การเป็น healthy beauty ก็หมายถึงการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีภายในเพื่อให้ร่างกายและจิตใจมีความสมดุล โดยเน้นไปที่การรับประทานอาหารที่ดี, การนอนหลับที่เพียงพอ, การลดความเครียดและมีชีวิตประจำวันที่มีคุณภาพ, การดูแลสุขภาพจิต, การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและส่งเสริมกับสุขภาพ รวมถึงการตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ สรุปคือ healthy beauty เป็นการเข้าใจและยอมรับว่าความงามที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากความสมดุลระหว่างสุขภาพที่ดีภายในและภายนอก ซึ่งการใส่ใจและดูแลทั้งสองด้านนี้จะช่วยให้คุณมีความเป็น healthy beauty ที่สมบูรณ์แบบอย่างสมดุลและยั่งยืน

เทรนด์ที่เกี่ยวข้อง : Microbiome beauty, Medical beauty, Ancient wisdom, Preventive beauty

 

 

Mindful beauty

เกี่ยวข้องกับการดูแลและใช้เครื่องสำอางอย่างตระหนักต่อสุขภาพทั้งกายและใจ ช่วยแก้ไขปัญหาที่มีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพทางกาย เน้นให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีสติ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใช้ผลิตภัณฑ์ เช่นการนวดหน้าอย่างช้า ๆ เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายและความสุขที่มาพร้อมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า นอกจากนี้ ยังเน้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารเคมีอันตรายและอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี paraben, fragrance, sulfate และสารอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ mindful beauty ยังให้ความสำคัญกับแง่มุมทางสังคมและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สรุปว่า mindful beauty เป็นแนวคิดการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เน้นความตระหนักรู้และคำนึงถึงสุขภาพทั้งกายและใจ และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในทุกระดับ

เทรนด์ที่เกี่ยวข้อง : Inner balance, Experiencing beauty

 

Good beauty

ผู้บริโภคเริ่มให้คุณค่ากับผลิตภัณฑ์ที่ “feel-good”และ “guilt-free” โดยมีการแสดงออกถึงแนวโน้มที่หลากหลาย เช่น natural beauty เนื่องจากการใช้ชีวิตในเมืองทำให้ผู้คนห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคจึงมองหาวิธีในการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ วิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำได้คือการใช้ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติและออร์แกนิก ซึ่งทำขึ้นโดยไม่มีส่วนผสมสังเคราะห์ terrapy เป็นการปฏิวัติโลกอีกทางหนึ่ง ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการโดยปราศจากความรู้สึกผิด วิธีการนี้จะทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจโลกมากขึ้น เป็นการปฏิรูปที่อนุรักษ์และฟื้นฟูโลกของเรานั่นเอง เช่น เคมีสีเขียวในสกินแคร์ มุ่งเน้นไปที่การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่ลดการใช้และการสร้างสารอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การป้องกันของเสีย การใช้สารเคมีที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และการใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืน label-led ฉลากสินค้ามีความโปร่งใส ส่วนผสมและการอ้างอิงบอกถึงความจริงของสินค้า คำนึงถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สิทธิแรงงาน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สร้างความไว้วางใจด้วยความโปร่งใส

เทรนด์ที่เกี่ยวข้อง : Natural beauty, Transparent beauty, Conscious beauty, Minimalistic beauty, Ethical & sustainable beauty, Crafted beauty

 


     ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่า 19,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.74% ในช่วงปี 2566-2570 จากข้อมูลของบริษัท Wonder ระบุว่า 88% ของผู้หญิงในสหรัฐฯ นิยมแต่งหน้าทุกวัน นอกจากนี้ จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวน 3,000 คน อายุตั้งแต่ 16-75 ปี ของบริษัท skinstore.com แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามประมาณ 250 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน/คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดเครื่องสำอางน่าจะมีการขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยอาศัยฐานผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อสินค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลุ่มเครื่องสำอางระดับพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุดิบชั้นดี และมีราคาค่อนข้างสูง มียอดจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวในตลาดสหรัฐฯ มีจำนวนมากถึง 4.7 ล้านคน

     ในต้นปี 2566 ช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม ไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่าถึง 18,916 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัว -3.26% เป็นประเทศอันดับ 1 ที่ไทยทำการส่งออก รองลงมาคือจีนและญี่ปุ่น ในส่วนของเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการขายตัว -30.41% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

     จากข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ปี 2556 - 2565 เป็นเวลา 10 ปี เห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับการส่งออก และยังเพิ่มมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตคาดว่าตลาดเครื่องสำอางในสหรัฐอเมริกาจะยังคงมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 

1.ประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้า
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เครื่องสำอางระดับพรีเมียมมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง คือ ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับส่วนผสมระดับพรีเมียมและประโยชน์ที่ได้รับ ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้ประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคได้พิจารณาถึงคุณประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช่น การรักษา การกระชับและการบำรุงผิว เป็นต้น ในปัจจุบัน บริษัทผลิตเครื่องสำอางให้ความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการนำนวัตกรรมการบำรุงผิวใหม่ๆ มาใช้เพื่อขยายโอกาสในการจำหน่ายให้มากขึ้น


 

2. เน้นส่วนผสมที่สะอาดจากธรรมชาติ
ผู้บริโภคสหรัฐฯ นิยมซื้อเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวโดยให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดจากธรรมชาติ (clean beauty) เป็นสำคัญ โดยนิยามของ “Clean beauty” คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีสารเคมีสังเคราะห์และ ส่วนผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและระคายเคืองต่อผิว อนึ่ง สินค้าเครื่องสำอางและความงามที่มีการระบุว่าเป็นสินค้าสะอาดจากธรรมชาติ ในตลาดสหรัฐฯ มีประมาณ 1 ใน 3 ของตลาด ซึ่งความนิยมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% ตั้งแต่ปี 2563-2570 อย่างไรก็ดี กระแสความนิยมในการค้นหาสินค้าสะอาดจากธรรมชาติทางสื่อ Social เป็นที่แพร่หลายอย่างมาก เช่น บน Instagram มีการค้นหาถึง 5.6 ล้านครั้ง และบน TikTok มีการ ค้นหาถึง 1,200 ล้านครั้ง

นอกจากนี้ จากข้อมูลของบริษัท Statista ได้ระบุว่า ยอดจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางจากธรรมชาติในสหรัฐฯ ปี 2566 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 7.06% ในช่วงปี 2566-2570 จากกระแสความนิยมสินค้าจากธรรมชาติของผู้บริโภค ทำให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Target Sephora และ Ulta ตลอดจนผู้ผลิตสินค้ามีความตื่นตัวและให้ความสำคัญอย่างมากกับเทรนด์นิยมสินค้าจากธรรมชาติดังกล่าว


3. สินค้าเฉพาะสำหรับผู้บริโภค
ผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับสูตรให้เหมาะสมกับผู้บริโภคช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและทำให้เกิด

การภักดีในแบรนด์ได้เป็นอย่างดี การนำข้อมูลการใช้สินค้าของผู้บริโภคผนวกรวมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลส่วนผสมของวัตถุดิบที่เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละคนได้ ซึ่งสูตรพิเศษดังกล่าวได้ช่วยในเรื่องการลดอาการแพ้และการแก้ไขปัญหาผิวของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ตลอดจนช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สินค้าที่มีความเหมาะสมกับตนเองมากยิ่งขึ้น ความเฉพาะเจาะจงดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการซื้อซ้ำและสร้างความภักดีในแบรนด์สินค้าแบบยั่งยืน

 


4. ความยั่งยืน 360 องศา
การพัฒนาสินค้าอย่างมีจริยธรรมมีความสำคัญมากต่อกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้บริโภค Gen Z ที่มีสัดส่วน 20% ของจำนวนประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนผิวขาว รองลงมา คือ กลุ่มฮิสแปนิก กลุ่มคนผิวสีและกลุ่มชาวเอเชีย ตามลำดับ ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนในทุกแง่มุม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การผลิตสินค้า ความร่วมมือระหว่างชุมชน การคัดสรรวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศและการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าเครื่องสำอางที่มีการนำเสนอแนวทางและทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมักจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าว ตัวอย่างสินค้ายั่งยืนที่เป็นที่นิยม ได้แก่

เครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำ: การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรมีค่าที่หายากกำลังลดลง ดังนั้นการการผลิตเครื่องสำอางที่ปราศจากการใช้น้ำอาจเป็นหนึ่งในทางออกที่ช่วยโลกและลดการเกิดคาร์บอนในอุตสาหกรรม การผลิตเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดี ตลาดเครื่องสำอางปราศจากน้ำทั่วโลกน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2574

ความงามจากเทคโนโลยีชีวภาพ: การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจัดหาส่วนผสมที่ดีที่สุด จากธรรมชาติมาใช้ในการสร้างสรรค์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ดีและมีประสิทธิภาพ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การพิมพ์ 3 มิติเพื่อลดของเสีย: การพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ผลิตในการพิมพ์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุน ระยะเวลาและพลังงานที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในอดีต การพิมพ์ 3 มิติจะนิยมใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมความงาม ซึ่งแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Channel ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาสินค้าและเชื่อว่าแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ จะได้มีการทำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ต่อไป

บรรจุภัณฑ์ปราศจากพลาสติก: บรรจุภัณฑ์ปราศจากพลาสติกมีการค้นหาทางออนไลน์ เพิ่มขึ้น 18% ต่อปี และยอด

จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามปราศจากพลาสติกในสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา




5. การเติบโตของ E-Commerce และ Social Media ช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภค
การเติบโตของการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มีการขยายตัวอย่างมาก จากข้อมูลของ Statista แสดงให้เห็นว่าการจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางและความงามในสหรัฐฯ ปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 18,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.61%

เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2569 น่าจะมีมูลค่าถึง 30,730 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลของ Insider Intelligence แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 18-44 ปี มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าทาง Social Media มากที่สุด ซึ่งสินค้าความงามเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนิยมซื้อทาง Social Media รองจากเสื้อผ้า โดยผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าความงามบน Social Media เฉลี่ย 800 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี/คน


      ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและความยั่งยืนมากขึ้น แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคจะยังคงยินดีที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องสำอางที่ตอบสนองค่านิยมและความสวยความงามในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ประกอบการแล้วการก้าวทันความต้องการของลูกค้าและการเชื่อมต่อกับผู้ซื้อมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้ การสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จำเป็นอย่างมากในการจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอางปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้เกิดการจดจำแบรนด์ในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงได้

รวบรวมข้อมูลจาก
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร


     จากข้อมูลข้างต้น TNP สรุปมาให้สั้น ๆ ดังนี้ค่ะ หากเจ้าของแบรนด์มีแผนในการส่งออกเครื่องสำอางไปยังสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่ายังมีพื้นที่ให้เข้าไปในตลาดได้ เพราะตลาดเครื่องสำอางมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี ที่สำคัญสินค้าที่จะส่งออกจะต้องมีความเป็น Green & Clean beauty เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิตไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ตัวแบรนด์จะต้องมีภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาติ และมีแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากทำได้ตามนี้ผู้บริโภคที่มีความตระหนักถึงคุณค่าของแบรนด์จะต้องปลื้มแน่นอนค่ะ!

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้