R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)

Last updated: 23 พ.ย. 2566  |  3156 จำนวนผู้เข้าชม  | 

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)

     การทดสอบทางประสาทสัมผัสเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่ก่อนที่จะวางขายจริงในตลาด โดยการทดสอบขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีผู้เชี่ยวชาญในการทดสอบและวิเคราะห์ผล การทดสอบนี้สามารถช่วยกำหนดสูตรที่จะวางขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลการทดสอบยังสามารถใช้ทำการตลาดได้ เป็นการสร้างจุดขายให้กับสินค้าใหม่และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้



     การทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัสจะใช้การมองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส การได้ยิน และการสัมผัส โดยใช้ประสาทสัมผัส ตา จมูก ปาก หู และผิวหนัง ตามลำดับ เป็นเครื่องวัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในการทดสอบจะมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ออกแบบลักษณะการทดสอบและกำหนดเกณฑ์การยอมรับตามประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเกณฑ์ที่นิยมใช้คือ Hedonic Scale, Just About Right (JAR) Scale, และ Rating Scale

Hedonic Scale เป็นสเกลที่ใช้กับการทดสอบการยอมรับในผลิตภัณฑ์ บอกระดับความชอบของผู้เข้ารับการทดสอบ ส่วนมากจะกำหนดไว้ 9 ระดับ ตั้งแต่ไม่ชอบมากที่สุดจนถึงชอบมากที่สุด

Just About Right (JAR) Scale เป็นสเกลวัดความพอดี ใช้วัดความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อความเข้มของคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสที่สนใจของผลิตภัณฑ์ ส่วนมากจะใช้เกี่ยวกับรสชาติ โดยให้ผู้ทดสอบระบุแนวโน้มของแต่ละคุณลักษณะว่าอ่อนเกินไปหรือเข้มเกินไป โดยสเกลวัดมีตั้งแต่ 3 ถึง 9 ระดับ

Rating Scale หรือมาตราส่วนประมาณค่า ใช้บ่อยที่สุดในการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นสเกลวัดแบบให้คะแนนหรือการประเมินค่า ใช้ตีความหมายของช้อมูลในเชิงคุณภาพออกมาเป็นเชิงปริมาณ สเกลวัดแบ่งได้หลายระดับ ตั้งแต่น้อยที่สุดจนถึงมากที่สุด



     การทดสอบเหล่านี้ เริ่มมาจากอุตสาหกรรมอาหารแล้วนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเมื่อปี 1970 โดยเริ่มแรกนั้นจะระบุความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ ดูความเหมือนและความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการกำหนดคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น

  • ความหนา (thickness)
  • ความไหล (fluidity)
  • ความหนาแน่น (density)
  • ความสดชื่น (freshness)
  • ความเงา (shininess)
  • ความเรียบเนียน (smoothness)
  • ความเหนอะหนะ (stickiness)
  • ความนุ่ม (softness)
  • ความลื่น (slipperiness)     

     ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็จะมีคุณลักษณะแตกต่างกัน เมื่อทดสอบและประเมินผลเสร็จแล้วเพื่อให้มองเห็นภาพรวมโดยง่ายก็อาจมีการสรุปผลในรูปแบบแผนภูมิแท่งหรือเรดาร์



ตัวอย่างการทดสอบความพึงพอใจของอาสาสมัครที่มีต่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

     การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่ มักจะทดลองแบบ blind test คือ จะไม่บอกว่าในผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมอะไร หรือให้ผลด้านใด เพื่อป้องกันการลำเอียงหรือการทดสอบที่ไม่ยุติธรรม เวลาที่ใช้ทดสอบจะขึ้นอยู่กับระเบียบวิจัยที่กำหนดไว้และประเภทของผลิตภัณฑ์



การทดสอบทางประสาทสัมผัสของโลชั่นทาผิวกาย

โลชั่นทาผิวกายจะทาที่ผิวหนังของแขนส่วนปลาย ทดสอบ 2 ครั้งต่อวัน เช้า-เย็น เป็นเวลา 7 วัน และต้องงดใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ บริเวณที่ทำการทดสอบตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับการทดสอบ เมื่อครบกำหนด จึงทำการสรุปผลความพึงพอใจของอาสาสมัคร มีเกณฑ์การประเมินดังนี้ เนื้อสัมผัส ความเหนียวเหนอะหนะ ผิวสัมผัสหลังทา ความชุ่มชื้น ความเรียบเนียน ความกระจ่างใส ริ้วรอย สภาพผิวโดยรวม โดยใช้ rating scale 5 ระดับ 

1 = ไม่พอใจมาก 2 = ไม่พอใจ  3 = เฉย ๆ  4 = มีความพึงพอใจ  5 = มีความพึงพอใจมาก



การทดสอบทางประสาทสัมผัสของเซรั่มทาผิวหน้า

เซรั่มทาผิวหน้าจะทาที่ผิวหน้าทั้ง 2 ด้าน หรือเลือกทาเพียงด้านเดียวหากมีผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบ ทดสอบ 2 ครั้งต่อวัน เช้า-เย็น เป็นเวลา 14 วัน และงดใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ บริเวณที่ทำการทดสอบตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับการทดสอบ เมื่อครบกำหนด จึงทำการสรุปผลความพึงพอใจของอาสาสมัคร มีเกณฑ์การประเมินดังนี้ สี กลิ่น ลักษณะเนื้อ การซึมง่าย การเกลี่ยง่าย ไม่เหนอะหนะผิวหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่เหลือความมันที่ผิวหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพการเพิ่มความชุ่มชื้น ประสิทธิภาพความกระจ่างใส ความพึงพอใจโดยรวมของผลิตภัณฑ์ โดยใช้ค่า rating scale แบบ 9 ระดับ 

1 = ไม่พอใจมากที่สุด 2 = ไม่พอใจมาก 3 = ไม่พอใจปานกลาง 4 = ไม่พอใจเล็กน้อย 5 = เฉย ๆ 6 = พอใจเล็กน้อย 7 = พอใจปานกลาง 8 = พอใจมาก 9 = พอใจมากที่สุด




การทดสอบทางประสาทสัมผัสของครีมนวดผม

เริ่มการทดสอบด้วยการสระผมด้วยแชมพูให้สะอาด ชโลมครีมนวดผมตั้งแต่กลางผมถึงปลายผมให้ทั่ว หากมีผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบให้แบ่งผมทดสอบซ้าย - ขวา ทิ้งไว้ 3 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทำการสรุปผลความพึงพอใจของอาสาสมัคร มีเกณฑ์การประเมินดังนี้

การประเมินผมเปียก (wet hair evaluation) : การใช้งาน หวีผมเปียกหลังใช้ 3 นาทีได้ง่าย การล้างออกง่าย สัมผัสหลังล้างออก การพันกันของเส้นผม

การประเมินผมแห้ง (after drying evaluation) : การหวี สัมผัสของเส้นผมแห้ง ความเงางาม ความนุ่ม

โดยใช้ค่า rating scale แบบ 5 ระดับ 

1 = ไม่พอใจมาก 2 = ไม่พอใจ 3 = เฉย ๆ 4 = พอใจ 5 = พอใจมาก





     การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง ผลลัพธ์จากผู้เข้ารับการทดสอบจะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจว่าผลิตภัณฑ์สูตรนี้ควรที่จะต้องปรับปรุงหรือพร้อมแล้วที่จะวางขายในตลาด นอกจากนี้ ผลการทดสอบความพึงพอใจจากผู้ใช้ยังสามารถเคลมลงในฉลากสินค้า ช่วยเพิ่มความดูดีและน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคได้ด้วย สนใจสร้างแบรนด์เครื่องสำอางทางทีเอ็นพีมีบริการส่งผลิตภัณฑ์สูตรพิเศษของคุณลูกค้าไปยังศูนย์ทดสอบที่เราไว้วางใจ สร้างแบรนด์เครื่องสำอางในงบหลักหมื่น ครบ จบ พร้อมขาย!




ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางที่น่าไว้วางใจ



https://www.tnpoem.com/content/6251/dermatologically-test

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้