share

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.8 พื้นฐานกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของผิวหนัง ตอน สิว (Acne)

Last updated: 24 Jun 2024
23 Views
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.8 พื้นฐานกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของผิวหนัง ตอน สิว (Acne)

     สิวเกิดจากการอักเสบของรูขุมขนและต่อมไขมัน (Pilosebaceous Unit) และถูกจัดเป็นโรคทางผิวหนังที่พบมากที่สุด มักจะเริ่มเกิดสิวได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี หรือในบางคนก็อาจเกิดเร็วกว่านั้น ประมาณ 80-90% ของวัยรุ่นมักเกิดปัญหาสิว บริเวณที่พบว่าเกิดสิวได้ง่ายคือ ที่หน้า หน้าอก แผ่นหลัง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและอาจยังคงมีอยู่จนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ หลังจากเริ่มเป็นสิวความรุนแรงของสิวจะมากขึ้น 3-5 ปี และจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

     85% ของผู้เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียง 15% ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง คนที่เป็นสิวมักมีปัญหาผิวมัน และเกิดการอุดตันกลายเป็นสิวอุดตันชนิดหัวเปิด (Open Comedone) และชนิดหัวปิด (Close Comedone) สำหรับสิวที่รุนแรงปานกลางและรุนแรงมากนั้นจะมีอาการบวมแดง อักเสบ และพัฒนาเป็นหัวหนองต่อไป นำไปสู่การเกิดรอยดำ รอยแดงหลังการอักเสบ และรอยแผลเป็นในระยะยาวได้อีกด้วย ทำให้บางคนเกิดความกังวล และสูญเสียความมั่นใจในตนเองจากการเป็นสิว

สิวแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. สิวไม่อักเสบ

ได้แก่ สิวชนิดหัวเปิดและหัวปิด ไม่มีการอักเสบ บวมแดง เนื่องจากผนังรูขุมขนไม่เสียหาย

สิวหัวดำ (Blackhead) หรือสิวหัวเปิด เกิดจากรูขุมขนเปิดออกและเมื่อสิวโดนออกซิเจนก็เปลี่ยนเป็นสีดำ ไม่พัฒนาไปเป็นสิวอักเสบ
สิวหัวขาว (Whitehead) หรือสิวหัวปิด เนื่องจากรูขุมขนปิดจึงทำให้สังเกตได้ยาก มีโอกาสพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบ

2. สิวอักเสบ

มีลักษณะเป็นตุ่มนูน (Papules) ตุ่มหนอง (Pustules) และตุ่มก้อน (Nodules) สิวอักเสบเหล่านี้มีรอยบวมแดง อักเสบ เนื่องจากเชื้อ C. acnes ผลิตเอนไซม์ที่สามารถทำให้ผนังรูขุมขนอ่อนแอลงและเกิดความเสียหาย เซลล์เม็ดเลือดขาวและแดงจึงเคลี่ยนที่ไปยังจุดนั้นเพื่อยับยั้งความเสียหายรอย เราจึงมองเห็นรอยแดงของสิว สิวอักเสบมีดังนี้

สิวตุ่มนูน (Papules) มีขนาดเล็ก มีตุ่มนูนแดงใต้ผิวหนัง เป็นสิวอักเสบเริ่มต้น
สิวตุ่มหนอง (Pustules) มีตุ่มนูนสีแดง และมีหนองสีขาวที่ส่วนปลาย หนองสีขาวเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายจากการต่อสู้ 
สิวตุ่มก้อน (Nodule) มีลักษณะเป็นตุ่มก้อนชัดเจน ตุ่มก้อนมีสีแดงหรือม่วง เกิดจากสิวที่ฝังรากลึกและติดเชื้อในรูขุมขนจำนวนมาก สัมผัสแล้วเจ็บ
สิวซีสต์ (Cyst) มีลักษณะเป็นรอยสิวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนอง ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบที่รุนแรงจนพัฒนามาเป็นสิวเรื้อรัง ก่อให้เกิดแผลเป็นได้

ระดับความรุนแรงของสิวแบ่งเป็น 3 ระดับ

ซึ่งดูจากชนิดของสิว ได้แก่ ตุ่มนูน (Papules), ตุ่มหนอง (Pustules), และตุ่มก้อน (Nodules)

1. สิวรุนแรงน้อย แสดงให้เห็นสิวชนิดหัวเปิดและหัวปิด
2. สิวรุนแรงปานกลาง แสดงให้เห็นสิวอักเสบ
3. สิวรุนแรงมาก แสดงให้เห็นสิวอักเสบคล้ายฝี

สาเหตุสำคัญ 4 ประการที่นำไปสู่การก่อตัวของสิว

1. การผลิตน้ำมันในผิวมากเกินไป (Seborrhea) ในทางสรีรวิทยาต่อมไขมันจะผลิตน้ำมันเพื่อการหล่อลื่นผิวหนัง มีหลายปัจจัยที่สามารถกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันได้ เช่น
ฮอร์โมน (Hormone) ฮอร์โมนกระตุ้นให้ต่อมไขมันโตขึ้น ประกอบกับการอุดตันของต่อมไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย C. acnes บนผิวหนัง ทำให้เกิดสิว
สิ่งแวดล้อม (Environment) การสัมผัสหรืออยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ เช่น ฝุ่นละออง ความร้อน แสงแดด ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดสิว
ยาบางชนิด (Drug) เช่น ยาที่มีผลต่อฮอร์โมน
พันธุกรรม (Genetic) คนที่มีพ่อแม่เป็นสิวมาก เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมักมีแนวโน้มที่จะเป็นสิวมากเช่นกัน

2. ผิวหนังหนาขึ้นผิดปกติ (Hyperkeratosis) การที่ผิวหนังบริเวณปากรูขุมขนเกิดการหนาตัวขึ้นผิดปกติทำให้เกิดการอุดตันท่อต่อมไขมัน เมื่อต่อมไขมันสร้างน้ำมันออกมาในปริมาณมาก ทำให้เกิดการอุดตันขึ้นในรูขุมขนซึ่งกลายเป็นสิวอุดตัน

3. เชื้อสิวเจริญเติบโตขึ้น (Microbial Colonization) เมื่อรูขุมขนมีการอุดตันจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนทำให้เชื้อ C. acnes เจริญเติบโตได้ดี เชื้อสิวจะทำการย่อยซีบัม (Sebum) มาเป็นอาหาร ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนจนกลายเป็นสิวอุดตัน นอกจากนี้เชื้อสิวยังทำลายเซลล์ผิวจนเกิดการอักเสบขึ้น

4. เกิดอาการอักเสบ (Inflammation) กระบวนการอักเสบของร่างกายทำให้เกิดสิวบวมแดงและอักเสบเป็นหนองในกรณีรุนแรง การอักเสบจะขยายลึกลงไปในบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่รอบข้าง

ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้อาการของสิวแย่ลง
1. ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง (น้ำตาลและแป้ง) 
2. การบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวมากเกินไป (ยกเว้นเนยแข็ง) 
3. การสูบบุหรี่ 
4. ใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน (Comedogenic)
5. เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ การพักผ่อนไม่เพียงพอ การเจ็บปวย ความวิตกกังวลต่างๆ
6. รักษาสุขลักษณะไม่เพียงพอ เช่น การขาดการดูแลความสะอาดของร่างกายและอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ
7. การล้างหน้าบ่อยๆ อาจเกิดการระตายเคือง ทำให้เป็นสิวได้

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ร่วมกับยารักษาสิว

1. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด การล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนสามารถลดจำนวนสิวอักเสบและไม่อักเสบลงได้ ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าเหล่านี้ควรมีคุณสมบัติ Non-Comedogenic, Nonacnegenic ปราศจากแอลกอฮอล์ สารระคายเคืองหรือการแพ้ นอกจากนั้นยังต้องเหมาะสมกับสภาพผิวและมีค่า pH ใกล้เคียงกับผิว ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีการเพิ่มสารที่ช่วยดูแลผิวเป็นสิวเช่น Salicylic Acid เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

2. ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น เนื่องจากผลข้างเคียงของการรักษาสิวคือ การระคายเคืองและแห้ง การใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นร่วมกับการรักษาสิวจะช่วยลดและป้องกันการระคายเคือง และยังไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาสิว
ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นนี้ควรมีคุณสมบัติ Water-Based ไม่เหนอะ ไม่มีสารทำให้เกิดสิวและการแพ้ สามารถใช้ได้ตั้งแต่เริ่มการรักษา

3. ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดด ผลิตภัณฑ์ปกป้องแสงยูวีมีส่วนสำคัญในการป้องกันรอยดำจากสิวและการไวต่อแสงแดดในกรณีการใช้ยาฏิชีวนะ หรือ Retinoids โดยแนะนำ SPF ตั้งแต่ 30-50 ชนิด Water-Based หรือชนิดที่บางเบา ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันผิว

วิธีลดโอกาสในการเกิดสิว

1. รักษาความสะอาดผิวหน้า, ผิวกาย และเส้นผม
2. ไม่ใช้สบู่ที่มีค่าความเป็นกรดด่างสูง เพราะจะทำลายเซลล์ผิวที่เป็นสิวได้ง่าย
3. หลีกเลี่ยงสครับที่ทำร้ายผิวและทำให้สิวมีอาการรุนแรงขึ้น
4. อย่าเช็ดถูแรงๆ และไม่บีบหรือแกะสิว
5. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้สนิท ลดความเครียด
6. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะให้ครบทั้ง 5 หมู่ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
7. หลีกเสี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการอุดตัน
8. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสีและน้ำหอม เนื่องจากอาจทำให้สิวมีอาการรุนแรงขึ้นและระคายเคืองต่อผิวหนัง
9 .หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้งและยังกระตุ้นการผลิตน้ำมันในผิว

     สิวมีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของเรา การดูแลผิวที่เป็นสิวให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนที่ใช้ยารักษาสิวตามคำแนะนำของแพทย์มักจะต้องการการปลอบประโลมผิวไปพร้อมๆ กัน สกินแคร์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นคลีนเซอร์ มอยส์เจอร์ไรเซอร์ และกันแดด ย่อมให้ประสิทธิภาพที่ดีในการดูแลและปกป้องผิวที่กำลังอ่อนแอ

 

ที่ TNP มีผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยคุณดูแลผิวเป็นสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแบรนด์สกินแคร์แบบครบวงจร ปรึกษาฟรี!

 

ข้อมูลจาก:
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 Aug 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)
ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายให้ถูกต้อง
25 Jun 2024
11 Ingredients ที่เป็นประเด็นกับความยั่งยืน
ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนมากขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างจำกัด ทำให้เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนส่วนผสมเครื่องสำอางที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้ใช้
25 Jun 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ