share

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.22 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบความปลอดภัย (Patch Test)

Last updated: 25 Jun 2024
350 Views
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.22 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบความปลอดภัย (Patch Test)

     ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เคลมเกี่ยวกับความปลอดภัยอย่าง "ผ่านการทดสอบการระคายเคือง" หรือ "Dermatologically tested" ล้วนมีความอ่อนโยนต่อผิวสูง เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของสินค้า ผู้บริโภคสามารถไว้วางใจต่อผลิตภัณฑ์นี้ได้ว่าปลอดภัยเนื่องจากผ่านการทดสอบการระคายเคืองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วนั่นเอง ซึ่งทีเอ็นพีจะพามารู้จักการทดสอบนี้กัน

     การทดสอบการระคายเคืองและการทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง มีขึ้นเพื่อประเมินความเข้ากันได้ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกับผิวหนัง ดูว่าผิวหนังมีความทนทานมากเท่าไรในการใช้เครื่องสำอาง ซึ่งการทดสอบนี้จะช่วยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวภายใต้สภาวะการใช้งานปกติ ส่วนใหญ่นิยมใช้ patch test ในการทดสอบโดยการทดสอบดำเนินการตามหลักจริยธรรม อยู่ภายใต้สภาวะการทดสอบที่ได้รับการควบคุม และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผล

 ก่อนการทดสอบ 
ก่อนที่จะทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในผู้ทดสอบหรืออาสาสมัคร จำเป็นต้องมีการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จะทดสอบก่อน เนื่องจากคาดว่าเครื่องสำอางจะมีความเสี่ยงเล็กน้อยต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยดูองค์ประกอบทั้งหมด เช่น ส่วนผสมในสูตรทั้งหมด ปริมาณสารในสูตร ความเสถียรของผลิตภัณฑ์ วิธีการใช้งาน รวมไปถึงข้อมูลความปลอดภัย (material safety data sheet: MSDS) ดังนั้น การทดสอบจะเริ่มขึ้นได้ต่อเมื่อผ่านการประเมินความปลอดภัยแล้วเท่านั้น

แยกการทดสอบตามประเภทการใช้งาน
การทดสอบจะดูจากประเภทการใช้งานของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก เพราะการใช้งานแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีระยะเวลาในการสัมผัสผิวหนังมากน้อยแค่ไหนระหว่างการใช้งานเครื่องสำอางแบบปกติในชีวิตประจำวัน

1. ผลิตภัณฑ์ล้างออก
ผลิตภัณฑ์ล้างออก เช่น ครีมอาบน้ำ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม คลีนซิ่ง เป็นต้น จะสัมผัสกับผิวเพียงชั่วคราวแล้วถูกน้ำชำระล้างออกไป แต่ก็มีส่วนผสมบางอย่างที่สามารถยึดเกาะติดกับผิวและผมได้ เช่น สารเคลือบผิวที่ช่วยให้ผิวนุ่มลื่น รวมไปถึงสารบำรุงผิวต่าง ๆ ที่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวได้ด้วยเช่นกัน จึงต้องมีการทดสอบขึ้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ประเภทล้างออกใช้ การทดสอบแบบใช้งานครั้งเดียว (single application test) ก็เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงได้

2. ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องล้างออก
ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องล้างออก เช่น โลชั่น เซรั่ม ครีม น้ำตบ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่ทาทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย และไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม สกินแคร์ที่ผ่านการทดสอบในบางครั้งก็ยังก่อให้เกิดการระคายเคืองในผู้บริโภคขึ้นได้ โดยเฉพาะสกินแคร์ที่ใช้กับผิวหน้า จึงมีการทดสอบซ้ำ (repeated application test) เพื่อประเมินผลกระทบที่เป็นไปได้

     Patch test เป็นการทดสอบการระคายเคืองและภาวะภูมิแพ้ของผิวหนัง โดยการทดสอบด้วยสารมาตรฐานจากแผ่นทดสอบสำเร็จรูปลงบนผิวหนัง เพื่อตรวจปฏิกิริยาภูมิแพ้ของผิวหนังที่มีต่อสารบางชนิด เป็นเครื่องมือที่มีความไว (Sensitivity) และจำเพาะเจาะจง (Specificity) สูง

การทำ Patch test ทำได้ 2 แบบ คือ Open patch test และ Closed patch test

 Open patch test 
     ทดสอบการระคายเคืองหรือการแพ้ของเครื่องสำอางแบบเฉียบพลัน เหมาะสำหรับเครื่องสำอางสูตรที่คาดว่ามีการระคายเคืองสูง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดสอบส่วนใหญ่จะเป็น ครีมอาบน้ำ สบู่ แชมพู น้ำยาดัดผม และ ครีมกำจัดขน เป็นต้น มี 2 การทดสอบ คือ single application open epicutaneous test และ repeated application open epicutaneous test

- single application open epicutaneous test
ทาผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบโดยไม่ต้องเจือจางกับน้ำบริเวณท้องแขนหรือหลัง ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร เมื่อมีอาการระคายเคืองจะรู้สึกแสบ คัน มีรอยแดงเกิดขึ้น ภายใน 1 - 12 ชั่วโมง ส่วนการแพ้จะเกิดขึ้นภายใน 48 - 72 ชั่วโมง

- repeated application open epicutaneous test
เรียกอีกอย่างว่า use test จะทำการทดสอบเมื่อไม่มีการระคายเคืองหรือการแพ้เกิดขึ้นใน single application open epicutaneous test เพื่อดูการแพ้ทางผิวหนัง และมีการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ทดสอบโดยทาผลิตภัณฑ์ที่ท้องแขน ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ทำซ้ำ 3 -14 วัน จนกว่าจะปรากฎรอยแดง ถ้าหากผิวไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแสดงว่ามีโอกาสแพ้น้อย

 Closed patch test 
     ทดสอบการระคายเคืองและการแพ้โดยใช้แผ่นทดสอบ โดยใส่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบลงในแผ่นทดสอบ เหมาะสำหรับเครื่องสำอางสูตรที่ดูมีความปลอดภัยต่อผิวหนัง สามารถเปรียบเทียบได้หลายสูตรในการทดสอบครั้งเดียว มี 2 การทดสอบ คือ single application closed patch epicutaneous testและ repeated application closed patch epicutaneous test

- single application closed patch epicutaneous test
ปิดแผ่นทดสอบบริเวณแผ่นหลังหรือต้นแขน อ่านผลที่ 24, 48, หรือ 96 ชั่วโมง ตามที่กำหนดในระเบียบปฏิบัติในการทดลอง ดึงแผ่นแปะออกดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ สังเกตจากรอยแดงที่เกิดขึ้น
- repeated application closed patch epicutaneous test
ปิดแผ่นทดสอบบริเวณแผ่นหลังหรือต้นแขน 48 ชั่วโมง แล้วอ่านผล สังเกตการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังหลังจากเปิดแผ่นทดสอบ ทำซ้ำ 14 วัน โดยอาจจะปิดแผ่นไว้ 6 ชั่วโมงในแต่ละวันแล้วอ่านผล ตามที่กำหนดในระเบียบปฏิบัติในการทดลอง เนื่องจากสารบางอย่างอาจทำปฏิกิริยากับผิวล่าช้า จึงใช้เวลาในการแพ้ค่อนข้างนาน

การระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มักมีอาการแสบ แดง คัน และมีอาการในหลายคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ มักเกิดจากเครื่องสำอางมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองอยู่ เช่น sodium lauryl sulfate (SLS) ส่วนการแพ้ทางผิวหนัง เกิดเป็นรายบุคคล มีเรื่องของภูมิคุ้มกันมาเกี่ยวข้อง บางครั้งมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ในการทดสอบ patch test แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีเกณฑ์ในการประเมินการเกิดปฏิกิริยาบนผิวหนัง

หลังจากทดสอบ patch test เรียบร้อยแล้วแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญจะทำการคำนวณผลการทดสอบแล้วคิดค่าเฉลี่ยทั้งหมดออกมา โดยใช้สูตร Mean Cumulative Irritation Index (MCII)

จากตารางข้างบน
ผลการทดสอบของผลิตภัณฑ์ออกมา ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง TNPOEM Advance Fruity Whitening Serum มีผลการระคายเคืองเฉลี่ยสะสม 0.05 สามารถเขียนสรุปในฉลากผลิตภัณฑ์ได้ดังนี้

TNPOEM Advance Fruity Whitening Serum ผ่านการทดสอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง โดยอาสาสมัคร 30 คน เมื่อ 11 ธันวาคม 2566 (Dermatologically tested) ไม่มีการระคายเคือง

คำเคลมที่เห็นได้บ่อย ๆ หน้าฉลากเครื่องสำอางหรือโฆษณา
ผ่านการทดสอบการระคายเคือง, ผ่านการทดสอบทางผิวหนัง, Dermatologist tested, Dermatologically tested, Dermatologist prove, Clinically Tested, Non-irritating, Non-irritant

การทดสอบความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางด้วย patch test เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวภายใต้สภาวะการใช้งานปกติเครื่องสำอางที่ไม่ระคายเคืองต่อผู้บริโภคช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้และการตัดสินใจในการซื้อสินค้า พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยให้กับแบรนด์ของคุณ ทีเอ็นพีมีบริการส่งตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางเพื่อรับรองความปลอดภัยและพัฒนาแบรนด์คุณภาพอย่างยั่งยืน

ที่มา
Cosmetics Europe: Product Test Guidelines For The Assessment Of Human Skin Compatibility Journal of Cosmetics
Dermatological Sciences and Applications: Evaluation of the Skin Irritation and Sensitization Potential of the Cussons Baby Sensicare Skin Range of Products in Healthy Volunteers

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 Aug 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)
ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายให้ถูกต้อง
25 Jun 2024
11 Ingredients ที่เป็นประเด็นกับความยั่งยืน
ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนมากขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างจำกัด ทำให้เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนส่วนผสมเครื่องสำอางที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้ใช้
25 Jun 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ