เส้นผมและหนังศีรษะเป็นส่วนที่ทุกคนให้ความสำคัญ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ทำให้เส้มผมเงางาม นุ่มสลวย จัดทรงง่าย หนังศีรษะไม่มีรังแค ซ่อมแซมเส้นผมแห้งเสีย หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเส้นผมล้วนทำได้หมด ซึ่งผลลัพธ์แต่ละอย่างก็ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เฉพาะ ใน EP.15 นี้ TNP จะเล่าเกี่ยวกับโครงสร้างของเส้นผม ประเภทเส้นผม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดูแลค่ะ
เส้นผม คือ เส้นใยเคราตินบางๆ ที่มีความยืดหยุ่นสูง พบได้เกือบทุกที่ของผิวหนัง ยกเว้น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และริมฝีปาก ในเส้นผมหรือเส้นขนนั้นๆ ประกอบด้วยรากผมที่ฝังอยู่ในชั้นหนังแท้และมีเส้นผมที่ยื่นโผล่ออกมาเหนือผิว รากผมจะเจริญเติบโตในรูขุมขน ส่วนฐานรากของเส้นผมจะใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ลักษณะเป็นกระเปาะคล้ายหัวหอม (bulb) บริเวณกระเปาะผมจะมีเส้นเลือดที่คอยลำเลียงอาหารไปเลี้ยงเซลล์เส้นผมให้เจริญเติบโต การเจริญเติบโตของเส้นผมนั้นคล้ายกับการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนัง เมื่อเซลล์แบ่งตัวและเติบโต มันจะผลักเซลล์เดิมให้ขึ้นไปยังชั้นบน
Did you know รู้หรือไม่?
การโกนหรือตัดผม ไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เนื่องจากส่วนที่ถูกตัดหรือโกนออกประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว ยกเว้นการถอนเส้นผมที่ดึงเอารากผมออกมาด้วย จะทำให้วงจรชีวิตผมได้รับผลกระทบ
องค์ประกอบทางเคมีของเส้นใยผม
ประกอบด้วยเคราติน 95% เส้นใยเคราตินประกอบด้วยสายโซ่โมเลกุลยาวที่เกี่ยวพันและยึดแน่นด้วยพันธะต่างๆ พันธะที่พบในเส้นใยผมนั้นมีทั้งพันธะที่แข็งแรงอย่างพันธะ disulfide bonds และที่อ่อนแออย่าง van der Waals forces, salt bonds, และ hydrogen bonds ซึ่งพันธะเคมีที่แข็งแรงจะถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อโดนยืดผมหรือดัดผมถาวร ไม่สามารถกลับสู่สภาพผมตามธรรมชาติได้ ส่วนพันธะเคมีที่อ่อนแอนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น การเป่าผม การหนีบผม การม้วนผม เป็นต้น สามารถกลับสู่สภาพผมตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้เส้นใยผมยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ น้ำ ลิพิด เมลานิน รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ เช่น อะลูมิเนียม โครเมียม แคลเซียม ทองแดง เหล็ก แมงกานีส แมกนีเซียม และสังกะสี
โครงสร้างเส้นผมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. ผมชั้นนอก (cuticle)
อยู่ชั้นนอกสุดของเส้นผม มีลักษณะคล้ายเกล็ดซ้อนทับกัน ห้อหุ้มแกนผมภายในเอาไว้ ช่วยปกป้องเส้นผมไม่ใช้สูญเสียความชุ่มชื้นและน้ำมันตามธรรมชาติ
2. ผมชั้นใน (cortex)
ชั้นนี้มีส่วนประกอบหลักเป็นเคราตินที่ให้ความยืดหยุ่นสูง
3. แกนผม (medulla)
แกนกลางของเส้นผม
การเจริญเติบโตของเส้นผมเป็นวัฏจักรอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ anagen, catagen และ telogen
1. ระยะเจริญเติบโต (anagen phase)
ในช่วงระยะ anagen เส้นผมเส้นใหม่จะถุกสร้างขึ้นที่ส่วนล่างรูขุมขน โดยปกติเส้นผมบนหนังศีรษะส่วนใหญ่ 85% - 90% จะอยู่ในระยะนี้ตลอดเวลา ในขณะ 10% ที่เหลือจะอยู่ในระยะ telogen หรือ catagen นั่งเอง ระยะ anagen เส้นผมสามารถอยู่ได้ 2-6 ปี หรืออาจยาวนานถึง 8 ปี ยิ่งอยู่ได้นานเท่าไร เส้นผมก็ยิ่งยาวขึ้นเท่านั้น ปกติแล้วเส้นผมจะยาวขึ้นประมาณ 1 มิลลิเมตร ทุกๆ 3 วัน ในขณะเส้นขนตามแขน ขา คิ้ว ขนตา จะมีระยะ anagen ที่สั้นกว่ามากและเติบโตได้ช้า ซึ่งทำให้เส้นขนบริเวณดังกล่าวสั้นกว่าเส้มผมบนหนังศีรษะนั่นเอง
2. ระยะหยุดเจริญเติบโต (catagen phase)
ระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงสั้นๆ ระหว่างระยะ catagen และ telogen ระยะนี้ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ การแบ่งเซลล์จะหยุดลง หลอดรูขุมขนจะหดตัวและหลุดออกจากตุ่มผิวหนัง การผลิตเม็ดสีเมลานินจะหยุดลงในระยะนี้ ส่งผลให้ปลายผมด้านล่างไม่มีเม็ดสี
3. ระยะหลุดร่วง (telogen phase)
ระยะ telogen คือ ระยะสุดท้าย คงอยู่ประมาณ 2-3 เดือน เส้นผมจะหลุดร่วงในระยะนี้ จากนั้นจะถูกกระตุ้นให้มีการงอกเส้นผมขึ้นมาใหม่ จากนั้นจะกลับเข้าสู่ระยะ anagen อีกครั้ง ส่วนมากเส้นผมในระยะนี้จะหลุดร่วงอย่างง่ายดายเพียงแค่หวีหรือสระผม ไม่มีความเจ็บระหว่างที่เส้นผมหลุดออกจากรูขุมขน
เส้นผมที่หลุดร่วงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเส้นผมที่ปกติ แต่ละรูขุมขนจะมีช่วงระยะที่แตกต่างกัน ดังนั้นเส้นผมจะไม่หลุดพร้อมๆ กันทั้งศีรษะทำให้เราไม่หัวล้านนั่นเอง ปกติแล้วเมื่อเส้นผมเข้าสู่ระยะ telogen จะหลุดร่วงประมาณ 100-150 เส้นต่อวันแต่หากเส้นผมมีการหลุดร่วงในระยะ anagen ถือเป็นความผิดปกติ ถึงแม้ 2 ระยะนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ก็สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก สามารถมองเห็นได้ชัดเจนด้วยกล้องจุลทรรศน์หรือแว่นขยาย
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ได้แก่
ปัจจัยทางระบบ (systemic factors) เช่น ฮอร์โมนแอนโดรเจน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนไทรอยด์ ปัจจัยการเจริญเติบโตและไซโตไคน์ (growth factors and cytokines) ตลอดจนปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น สารพิษ และการขาดสารอาหาร วิตามิน และพลังงาน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับผม
- เส้นผมมีค่า pH 3.7 เป็นประจุลบ และประจุลบจะเพิ่มขึ้นตามสภาพดินฟ้าอากาศ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มีประจุบวกจะถูกใช้ปรับสภาพเส้นผมได้ดี
- การที่จะมีเส้นใยผมที่แข็งแรง ก็ต้องมีหนังศีรษะที่แข็งแรงด้วยเช่นกัน หากผิวหนังได้รับความเสียหายจนอ่อนแอลงจะส่งผลต่อความแข็งแรงของเส้นผม อาจทำให้ผมเกิดแตกปลายและขาดได้ง่าย
- ความยืดหยุ่นเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของเส้นใยผม คุณสมบัตินี้ช่วยให้ผมสปริงตัวกลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยไม่เสียหาย ในผมสุขภาพดีสามารถทำการยืดผมเพิ่มความยาวจากเดิมได้ถึง 30% แต่หากยืดออกเกินขอบเขตนี้จะทำให้เส้นผมเกิดการเปลี่ยนแปลงจนแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมไม่ได้
- ปริมาณน้ำของเส้นผมจะแตกต่างกันไปตามความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศโดยรอบ เพื่อให้ดูมีสุขภาพดี เส้นใยผมจำเป็นต้องรักษาความชื้นไว้ประมาณ 17% อย่างไรก็ตามเส้นผมสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 35% เมื่อผมเปียก ในขณะที่ผมเปียก พื้นผิวของเส้นผมจะสูญเสียความเรียบเนียนชั่วคราวและมีการเสียดสีมากขึ้น ดังนั้นตอนสระผมเส้นผมที่เปียกน้ำจึงพันกันได้ง่าย
- เส้นผมมีสภาพต้านทานไฟฟ้า (electrical resistivity) สูง และมีค่าคงที่ไดอิเล็กทริก (dielectric constant) ค่อนข้างต่ำ หมายความว่าง่ายต่อการสร้างประจุไฟฟ้าโดยการแปรงผมและหวีผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง เกิดผมชี้ตั้งขึ้นหรือที่เรียกกันว่าผมเกิดไฟฟ้าสถิต (hair static)
มีการแบ่งประเภทผมอย่างหลากหลาย ทั้งตามเชื้อชาติ ขนาดแกนผม สีผม รูปร่างเส้นผม ยกตัวอย่างการแบ่งประเภทผมคร่าวๆ ดังนี้
จำแนกเส้นผมตามความหนา
เส้นผมมีโครงสร้างที่เหมือนกันแต่แกนความหนาเส้นผมนั้นแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
ผมเส้นหยาบ (coarse hair) เส้นผมมีขนาดใหญ่และหนา ทนต่อกระบวนการทางเคมี เช่น การดัดผม ใช้เวลาแต่ละขั้นตอนนานกว่าผมแบบอื่น
ผมเส้นปานกลาง (medium hair) จัดเป็นมาตรฐานของเส้นผม
ผมเส้นเล็ก (fine hair) เส้นผมบาง เปราะได้ง่ายและไวต่อความเปลี่ยนแปลง
จำแนกเส้นผมตามสี
สีผมมาจากเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในรูขุมขน สีผมตามธรรมชาติจะมีโทนสีที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณและอัตราส่วนของยูเมลานินและฟีโอเมลานิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ยูเมลานิน (eumelanin) เส้นผมมีสีน้ำตาลเข้มและดำ
ฟีโอเมลานิน (pheomelanin) เส้นผมมีสีแดงและบลอนด์
จำแนกเส้นผมตามรูปร่าง ขนาด และสี
การนำแนกนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและรูปร่างของเส้นใยผม ขนาดโดยรวม และช่วงเวลาที่ปรากฏบนร่างกาย ได้แก่
ลานูโก (lanugo hair) ปรากฎขึ้นตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์ได้ 5 เดือน เส้นขนนุ่มละเอียด บาง สีอ่อน และจะค่อยๆ หลุดร่วงไปตั้งแต่แรกเกิด
เวลลัส (vellus hair) ขนสั้น อ่อนนุ่ม ไม่มีสีหรือสีอ่อน ปรากฎตามตัวและใบหน้า ช่วยในการระเหยและระบายเหงื่ออย่างมีประสิทธิภาพ
เทอร์มินัล (terminal hair) เส้นขนยาว มีขนาดใหญ่ และสีเข้ม เมื่อเทียบกับ 2 ประเภทก่อนหน้า ได้แก่ ผมบนหนังศีรษะ ขนใต้วงแขน ขนหน้าอกผู้ชาย ขนบริเวณหัวหน่าว ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนขา และขนแขน ทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามบริเวณที่อยู่ เช่น เส้นผมป้องกันรังสียูวีและความหนาวเย็น ขนตาช่วยปกป้องดวงตาจากฝุ่นละออง เป็นต้น
จำแนกเส้นผมตามสภาพ
แบ่งผมตามสภาพความชุ่มชื้น ได้ 3 แบบ ได้แก่
ผมแห้ง เส้นผมมีลักษณะแห้งกรอบ หยาบกระด้าง ไม่แวววาว ขาดง่าย เนื่องจากขาดความชุ่มชื้น
ผมมัน เส้นผมมีลักษณะมันเยิ้ม จับตัวรวมกันได้ง่าย เกิดรังแคได้ง่าย เนื่องจากต่อมน้ำมันขับน้ำมันออกมามากเกินไป
ผมปกติ เส้นผมมีลักษณะสุขภาพดี แข็งแรง เงางาม มีน้ำหนัก จัดทรงได้ง่าย มีความยืดหยุ่นสูงไม่ขาดง่าย
เนื่องจากผมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ของเรา แชมพูและครีมนวดผมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่ผู้ชายและผู้หญิง แชมพูใช้ทำความสะอาดผมและครีมนวดผมใช้บำรุงผม แต่ปัจจุบันทั้งแชมพูและครีมนวดผมนอกจากจะทำหน้าที่หลักของตัวเองแล้วยังช่วยให้ประโยชน์กับผมในด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย ทั้งช่วยปรับปรุงสภาพเส้นผม ดูแลหนังศีรษะ ป้องกันรังแค และปัญหาเฉพาะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพของหนังศีรษะ
แชมพู (shampoo)
แชมพูเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกเช่น ฝุ่นละออง เหงื่อไคล คราบไขมันออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ โดยไม่เป็นอันตรายต่อเส้นผมและสุขภาพของผู้ใช้
คุณสมบัติที่ควรมีของแชมพู
- ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะได้อย่างหมดจดโดยไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้
- แก้ปัญหาเส้นผมมันและเหนียวได้ ให้ผมลื่นหวีง่าย เป็นประกายเงางาม มีน้ำหนัก
- ไม่ทำลายน้ำมันตามธรรมชาติของเส้นผม
- ไม่ทำให้ผมหยาบด้าน แห้งกรอบ หนังศีรษะแห้งลอก
- ลอกฟองแชมพูออกได้ง่าย ไม่แสบตาและไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้
- มีกลิ่มหอมที่น่าพึงพอใจ
- แชมพูมีความคงตัวดี เนื้อ สี และกลิ่นไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อถูกแสงหรืออุณหภูมิสูง
ส่วนประกอบที่สำคัญของแชมพู
มีส่วนประกอบหลักๆ 2 ส่วน คือ
1. สารทำความสะอาดหรือสารลดแรงตึงผิว (surfactants) ทำหน้าที่หลักในการชำระล้าง (detergents) ให้ฟองแชมพูได้ดี สารกลุ่มนี้ยิ่งมีประจุลบมากยิ่งทำความสะอาดได้ดี แต่อาจส่งผลให้ผมแห้งหยาบได้ จึงนิยมใส่สารลดแรงตึงผิวมากกว่า 1 ตัวในสูตร เพื่อปรับให้มีคุณสมบัติที่สามารถทำความสะอาดได้ดีและผมไม่สูญเสียความชุ่มชื้น
ตัวอย่างสารลดแรงตึงผิว
สารลดแรงตึงผิวประจุลบ (anionic surfactant) พบในแชมพูส่วนใหญ่ ทำความสะอาดได้ดี เช่น sodium lauryl sulfate (sls), sodium laureth sulfate (sles), sodium lauroyl sarcosinate, sodium dioctyl sulfosuccinate
สารลดแรงตึงผิวประจุบวก (cationic surfactant) ไม่ก่อฟอง ขจัดความมันได้ไม่ดี ส่วนมากใช้เพื่อลดไฟฟ้าสถิตและต้านแบคทีเรีย เช่น benzalkonium chloride, hydroxyethyl laurdimoniumchloride, hexadecyltrimethyl ammoniumchloride
สารลดแรงตึงผิวแอมโฟเทริก (amphoteric surfactant) เป็นสารลดแรงตึงผิวที่เป็นได้ทั้งกรดหรือเบส เข้ากันได้ดีกับสารลดแรงตึงผิวอื่นๆ ไม่ระคายเคืองต่อดวงตา มีฟองปานกลาง เช่น cocamidopropyl betaine, disodium cocoamphodiacetate, sodium cocoamphoacetate, sodium lauroamphoacetate
สารลดแรงตึงผิวไม่มีประจุ (nonionic surfactant) มีความอ่อนโยนสูง มักใช้คู่กับสารลดแรงตึงผิวประจุลบเพื่อลดความระคายเคืองลง เช่น poloxamers, cocamidopropylamine oxide, lauryl glucoside, decyl glucoside, coco-glucoside, caprylyl/capryl glucoside
2. สารเพิ่มคุณสมบัติพิเศษ (shampoo additives) ช่วยให้แชมพูมีความแตกต่าง เช่น
สารแต่งสี ให้แชมพูมีสีสันน่าใช้
สารแต่งกลิ่น ให้แชมพูมีกลิ่นหอม และหลังล้างกลิ่นยังคงติดเส้นผมอยู่
สารมุก ให้เนื้อแชมพูมีความเหลือบมุก ดูหรูหรา
สารทึบแสง ช่วยให้เนื้อแชมพูมีความทึบแสงขึ้น ขาวขึ้น เนื่องจากสีขาวตามธรรมชาติไม่สามารถละลายน้ำได้
สารปรับสภาพผม ช่วยให้เส้นผมมีความนุ่มลื่น เงางาม ไม่ชี้ฟู
สารป้องกันรังแค ช่วยลดรังแคบนหนังศีรษะและอาการคันที่เกิดจากรังแค
ประเภทของแชมพู
แชมพูสำหรับผมปกติ (Normal hair shampoos) สำหรับผมสุขภาพดีที่ไม่ผ่านการทำเคมี และหนังศีรษะผลิตน้ำมันเป็นปกติ เน้นทำความสะอาด มีสารปรับสภาพผมน้อยเพราะผมสุขภาพดีอยู่แล้ว
แชมพูสำหรับผมมัน (Oily hair shampoos) สามารถขจัดความมันส่วนเกินออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ ทำความสะอาดได้สูงกว่าแชมพูปกติ
แชมพูสำหรับผมแห้ง (Dry hair shampoos) ช่วยทำความสะอาดอย่างอ่อนโยนด้วยการผสมผสานสารลดแรงตึงผิวที่อ่อนโยน หนังศีรษะและเส้นผมที่แห้งต้องการการดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากมีน้ำมันน้อย แชมพูมักผสมสารปรับสภาพผมเพื่อลดความแห้งกรอบของผมและลดไฟฟ้าสถิตไม่ให้เส้นผมชี้ฟู
แชมพูสำหรับทำความสะอาด (Deep cleansing shampoos)ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดเส้นผมที่มีสารตกค้าง เช่น เจลแต่งผม สเปรย์ฉีดผม และมูส แชมพูเหล่านี้มีสารลดแรงตึงผิวที่แรงกว่า เพื่อขจัดสิ่งสกปรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แชมพูสำหรับเด็ก (Baby shampoos) ต้องมีความอ่อนโยนสูง ไม่ระคายเคืองหนังศีรษะ ผิว และดวงตาของเด็ก
แชมพูสำหรับผมหงอก (Gray hair shampoos) มีสีน้ำเงิน (blue dyes) เป็นส่วนผสมในสูตร เพื่อให้ผมหงอกสว่างขึ้นและมีเม็ดสีเหลืองน้อยลง ใช้บ่อยครั้งอาจทำให้เส้นผมมีลักษณะเป็นสีน้ำเงิน
แชมพูย้อมผม (Hair dyeing shampoos) เป็นสูตรพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อใช้หลังจากการย้อมผมถาวร แชมพูเหล่านี้มีสารลดแรงตึงผิวที่เป็นประจุบวกและมีค่า pH เป็นกรด ซึ่งทำให้ความเป็นด่างที่หลงเหลือจากสารเคมีที่ใช้ในการย้อมผมเป็นกลาง
แชมพูยา (Medicated shampoos) แชมพูยามีส่วนผสมที่ออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการคันและตกสะเก็ด
แชมพูสระผมแห้ง (Dry shampoos) มีลักษณะเป็นผงใช้สำหรับสระผมที่มันโดยไม่ต้องใช้น้ำ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาสระผม
แชมพูขจัดรังแค (Antidandruff shampoos) สามารถขจัดรังแคบนหนังศีรษะได้ ซึ่งรังแคมีลักษณะเป็นสะเก็ดสีขาวหรือเทา มีอาการคัน ผื่นแดง และหนังศีรษะแห้งขุยเป็นสะเก็ดร่วมด้วย มีสาเหตุมาจากยีสต์ Malassezia สารที่ช่วยขจัดรังแค เช่น zinc pyrithione, ketoconazole, coal tar, salicylic acid, selenium sulfide, sulfur
ครีมนวดผม (hair conditioners)
ครีมนวดผมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผมหลังการสระผม เพื่อช่วยให้เส้นผมมีความอ่อนนุ่ม เรียบลื่น ไม่พันกัน และหวีได้ง่าย เพิ่มความเงางามและเป็นประกายให้เส้นผม รวมถึงปรับสภาพผมเสียจากสารเคมีและผมที่ผุกร่อน ครีมนวดผมทำหน้าที่โดยลดไฟฟ้าสถิต เก็บประจุบวกไว้บนเส้นผม ปิดเกล็ดผมที่เปิดให้เรียบสนิท และเคลือบผมบางๆ ชั่วคราว
ส่วนประกอบที่สำคัญของครีมนวดผม
ในครีมนวดผมมีสารปรับสภาพผมหลายประเภทที่ช่วยให้ผมนุ่มลื่น ได้แก่ lipids, silicones, quats, protein derivatives, glycols
สารปรับสภาพเส้นผม (conditioning ingredients)
Quaternary conditioners สารชำระล้างประจุบวก ช่วยให้ผมเงางาม เส้นผมไวต่อไฟฟ้าสถิตน้อยลง เหมาะสำหรับเส้นผมที่เสียหายจากเคมี เช่น stearalkonium chloride, cetrimonium chloride, polyquaternium-10
Film-forming conditioners เป็นฟิล์มเคลือบเส้นใยผมเป็นชั้นบางๆ ทำจากโพลิเมอร์ ช่วยให้ผมเรียบไม่ชี้ฟู เหมาะสำหรับผมหยิกและผมหยักศก ช่วยให้ยืดผมง่ายขึ้น เช่น polyvinylpyrrolidone (PVP)
Protein-containing conditioners สารปรับสภาพเส้นผมที่มีโปรตีน เป็นส่วนประกอบ บำรุงได้ถึงแกนผมและเพิ่มความแข็งแรงให้เส้นผม เช่น โปรตีนจากสัตว์ ไหม และพืช
Silicones ซิลิโคนสามารถสร้างฟิล์มบางๆ เคลือบเส้นผมได้ ไม่ทำให้ผมมันและลีบแบน เส้นผมนุ่มลื่น เกาะติดเส้นผมได้เป็นอย่างดี ล้างออกยาก เช่น cyclomethicone, dimethicone, amodimethicone.
ประเภทครีมนวดผม
ปัจจุบันมีครีมนวดผมหลายประเภท ได้แก่
Instant conditioners ใช้หลังสระผม ทิ้งไว้บนผม 2-3 นาทีแล้วล้างออก สามารถใช้ได้ทุกครั้งหลังสระผม ฟื้นฟูผมที่ได้รับความเสียหายแบบเล็กน้อยได้ดี มักมีส่วนผสมหลักเป็น quats
Hair rinses ขั้นตอนก่อนการสระผม ใช้เพื่อทำความสะอาดหนังศีรษะและเส้นผมเพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ออกอย่างอ่อนโยนพร้อมให้ความชุ่มชื้นหนังศีรษะ ใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เหมาะสำหรับผมมันและเส้นเล็กละเอียด
Deep conditioners หรือมาส์กผม ใช้กับผมเปียก ทิ้งไว้บนผม 20-30 นาแล้วค่อยล้างออก มีส่วนผสมของโปรตีน เหมาะสำหรับผมเสียจากสารเคมีและผมแห้งกรอบ
Leave-in products ใช้กับผมที่แห้งหมาดๆ ไม่ต้องล้างออก ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้เส้นผมได้ดี ให้ผมนุ่มลื่น มีกลิ่นหอม ช่วยเคลือบแกนผมและป้องผมจากความร้อนระหว่างการเป่าแห้ง
ผมสุขภาพดีย่อมต้องมีการทำความสะอาดและดูแลที่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ทั้งแชมพูและครีมนวดผมต่างช่วยให้เส้มผมสะอาดและนุ่มลื่นเงางาม แต่การที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จำเป็นที่ต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพเส้นผมของแต่ละคน
ที่ TNP เรามีสูตรแชมพูและครีมนวดผมที่หลากหลาย
สนใจสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผมปรึกษาได้เลยค่ะ