แชร์

Neurocosmetics สวยแบบมีสมอง

อัพเดทล่าสุด: 25 มิ.ย. 2024
680 ผู้เข้าชม

     ทุกวันนี้ผู้บริโภคกำลังมองหาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีเทคโนโลยีที่สามารถชะลอความชราของผิว แก้ปัญหาผิวต่าง ๆ ที่เกิดจากความเครียด และต้องมาจากธรรมชาติ ไม่ระคายเคือง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม TNP ขอพาทุกคนมารู้จักกับนิวโรคอสเมติก เครื่องสำอางที่ทำงานร่วมกับสมองของเรา พัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดการกับความเครียดโดยเฉพาะค่ะ

 ผิวและสมองเกี่ยวข้องกันอย่างไร? 

     ผิวและสมองถูกสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กัน จึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมากระหว่างระบบประสาทที่ทำงานตามคำสั่งของสมองและกับผิวหนัง ผิวจึงเสมือนเป็นส่วนขยายของระบบสมองอีกทีนั่นเอง ในผิวจึงมีเส้นประสาทที่มีความซับซ้อนและตัวรับความรู้สึกอยู่มากมาย เพื่อเอาไว้สื่อสารหรือส่งสัญญาณไปให้สมอง จากนั้นเมื่อสมองได้รับข้อความแล้วก็จะตอบกลับมายังผิว

     ผิวเป็นอวัยวะรับความรู้สึกสัมผัสที่กว้างที่สุดในร่างกาย เมื่อหยิบจับสัมผัสกับสิ่งใดก็จะรับรู้ได้ทันที เป็นเพราะว่ามีหน่วยรับความรู้สึกสัมผัสจำนวนนับล้านเซลล์ และผิวต้องสัมผัสกับสิ่งเร้าภายนอกตลอดเวลา เช่น อุณหภูมิ เพื่อส่งข้อมูลไปยังสมองอย่างต่อเนื่องทำให้เรารับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวตลอดเวลา ซึ่งเซลล์รับความรู้สึกนั้นมีอยู่หลายชนิด ทำหน้าที่รับความรู้สึกสัมผัสแตกต่างกันไป เช่น ร้อน เย็น สัมผัส คัน จ็บปวด ขนลุก แรงกดที่ผิว การเคลื่อนไหว เป็นต้น

     ผิวจะเชื่อมกับสมองด้วยระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system : cns) ซึ่งระบบประสาทส่วนกลางจะช่วยรวบรวมข้อมูล แล้วส่งสัญญาณผ่านเซลล์ประสาทส่งคําสั่งไปสู่เนื้อเยื่อที่ทําหน้าที่ตอบสนอง

     ก่อนสัญญาณจากผิวจะไปถึงสมองจะต้องผ่านสารสื่อประสาทก่อน (neurotransmitter/ neuromediator) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายโดยมีเครือข่ายร่วม เรียกเครือข่ายนี้ว่า neuro-immuno-cutaneous system (nics) ประกอบด้วย

  • เส้นใยประสาทส่วนปลาย (nervous fiber endings)
  • เซลล์ผิว (เช่น keratinocytes, melanocytes, fibroblasts)
  • ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system)

     ปัจจุบันมีสารสื่อประสาท 200 ตัวที่เป็นที่รู้จัก เช่น glutamate, epinephrine, norepinephrine, gamma-aminobutyric acid (GABA), glycine, serotonin ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ส่วนในผิวนั้นสารสื่อประสาทที่สำคัญคือ นิวโรเปปไทด์ (neuropeptides) ซึ่งเป็นสารที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่ถูกสังเคราะห์และปล่อยออกมาจากเซลล์ประสาท หลังจากนั้นจะทำงานด้วยการไปจับกับโปรตีนอื่น ๆ ในเซลล์ ได้แก่ substance P, calcitonin gene-related peptide (CGRP) และ bradykinins

     เมื่อผิวสัมผัสกับสิ่งเร้า เช่น ความร้อน มลภาวะ สารเคมี การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำลาย สมดุลในผิวจนเกิดความเครียดในผิวขึ้น สมองจะสั่งให้ปลดปล่อยฮอร์โมนคอร์ติคอล (cortisol) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความเครียด เมื่อฮอร์โมนนี้มีมากเกินไปและสะสมมาเป็นเวลานานจะส่งแสดงผลออกมาที่ผิว เช่น ผิวหมองคล้ำ สิว ผิวแห้ง เร่งผิวแก่ รวมไปถึงผิวเกิดการระคายเคืองและแพ้ง่าย

     ความเครียดทำให้ผิวไม่สมดุล ตรงข้ามกับความสุขที่ทำให้ผิวรู้สึกสบายและได้รับการปกป้อง ซึ่งสารแห่งความสุขนี้คือ เบต้า-เอ็นดอร์ฟิน (β-Endorphins) เป็นเปปไทด์สื่อประสาท ผลิตจากต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ทำหน้าที่ยับยั้งกระแสประสาทความรู้สึกเจ็บปวดที่ส่งลงมาจากสมอง นอกจากนี้ยังเป็นตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เร่งการสร้างเซลล์ผิวใหม่ และช่วยสมานแผล ถ้าเรามีความสุขร่างกายก็จะหลั่งเอ็นดอร์ฟิน หากเราเจ็บปวดร่างกายก็จะหลั่งเอ็นดอร์ฟินเช่นกัน เพื่อระงับความเจ็บปวดที่ได้รับมา ผิวก็จะสดใส ไร้สิว ชุ่มชื้น อ่อนเยาว์ และมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมกว่าผิวที่มีความเครียด

     ปัจจุบันเครื่องสำอางมีนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาผิวเครียดได้แล้ว นั่นก็คือ นิวโรคอสเมติก (neurocosmetics) นวัตกรรมที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน ช่วยแก้ปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่ายและผิวแก่ชราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     neurocosmetics มาจาก neuroscience และ cosmetic เป็นการนำประสาทวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอาง เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมความงาม นิวโรคอสเมติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิว กลไกการทำงานเกี่ยวข้องกับระบบประสาทในผิว ถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับความเครียดในผิว ช่วยผ่อนคลายประสาท ต่อต้านการอักเสบของผิวที่เกิดจากความเครียด และช่วยชะลอวัย


 สารออกฤทธิ์ในนิวโรคอสเมติก (neurocosmetic active ingredients) 

     สารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์นิวโรคอสเมติกออกแบบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น ประเภทผิวและช่วงอายุของผู้บริโภค โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการออกฤทธิ์ ดังนี้

1. สารออกฤทธิ์สำหรับผิวเครียด (neurocosmetic ingredients for skin stress)

     ความเครียดทำให้สมดุลของผิวเสียไป ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะ รังสียูวี แสงสีฟ้า การนอนหลับไม่เพียงพอ โซเชียลมีเดีย ความสัมพันธ์เป็นพิษ ความกังวลเกี่ยวกับงาน และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่สูง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเครียดในชีวิตประจำวันเท่านั้น ความเครียดทางร่างกายและจิตใจสามารถกระตุ้นให้ผิวทำงานผิดปกติได้ เช่น สิว สะเก็ดเงิน ผิวอักเสบ โรซาเซีย หรือในกรณีอื่นๆ เช่น ผมร่วง

     หากได้รับความเครียดเป็นเวลานาน เซลล์ผิวจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียด ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อระดับของความเครียดยังคงสูงอยู่ ก็ทำให้เกิดผลเสียหายตามมา ผิวจะเสียสมดุลทำให้เกิดการอักเสบและผิวเหนื่อยล้าอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้ผิวกลับมาสมดุลสมองจะสั่งให้เริ่มทำการฟื้นฟูผิวกลับมาด้วยการกำจัดฮอร์โมนความเครียด ตรงจุดนี้นี่เองที่นิวโรคอสเมติกจะเข้าไปช่วยได้

     ก่อนที่จะเกิดฮอร์โมนความเครียดนั้น จุดเริ่มต้นมาจากผิวรับสิ่งอันตรายเข้ามาข้างในเซลล์ เซลล์ผิวที่มีเอนไซม์ชื่อว่า 11β-hydroxysteroid dehydrogenase type 1 (11β-HSD1) จะไปเปลี่ยนคอร์ติโซน (cortisone) ที่ไม่ทำงานให้กลายเป็นคอร์ติซอลที่พร้อมทำงานตามภาพด้านบน ภายใต้สภาะความเครียดที่เกิดขึ้นนี้ สารสื่อกลางการอักเสบในกระบวนการอักเสบ เช่น

  • ไซโตไคน์ (cytokine)
  • เคโมไคน์ (chemokine)
  • ไนตริกออกไซด์ (inducible nitric oxide synthase : iNOS)
  • โปรตีนที่ควบคุมกระบวนการอักเสบเช่น nuclear factor kappa B (NF-kB)
    มาร์กเกอร์เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนส่งผลให้ผิวอักเสบและคอลลาเจนจะฝ่อลง ผิวที่มองเห็นภายนอกจะมีรอยแดง แห้งขาดน้ำ ขาดความสว่างใส

การผลิตฮอร์โมนความเครียดจะส่งผลเสียต่อผิวอะไรบ้างมาดูกัน

  • จะทำให้โปรตีนเกิดเสื่อมสภาพและสลายตัวไป
  • กรดไฮยาลูรอนิกตามธรรมชาติของผิวก็ลดลง
  • การซ่อมแซมเกราะป้องกันผิวมีประสิทธิภาพน้อยลง
  • ทำให้เกิดริ้วรอยร่องตื้นและรอยเหี่ยวย่นเพิ่มขึ้น
  • ผิวบางลง
  • ความยืดหยุ่นลดลง
  • ผิวแห้ง และเสียสมดุล

 

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า "ยิ่งเครียดยิ่งแก่เร็ว" นั้นไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย

ตัวอย่างสารสกัด

 เม็กซิกัน ไจแอนท์ ฮิสซอฟ (Mexican giant hyssop) หรือ ( Agastache mexicana) 

กลไก : ลดการทำงานของ NF-kB (nuclear factor kappa B) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ควบคุมกระบวนการอักเสบในผิว

คุณสมบัติ : ลดรอยแดงของผิวหนัง ปรับปรุงความชุ่มชื้นของผิวลดการสูญเสียความชุ่มชื้น ฟื้นฟูเกราะป้องกันผิว เพิ่มความกระจ่างใสผิวและปรับโทนสีผิว

 มังค์เปปเปอร์ (Monk's pepper) หรือ ( Vitex agnus-castus) 

กลไก : กระตุ้นการทำงานของเซลล์ เพิ่มคอลลาเจนประเภท I ซึ่งเป็นคอลลาเจนที่ช่วยเสริมความยืดหยุ่นผิวและสมานแผล และ คอลลาเจนประเภท III เป็นคอลลาเจนที่ช่วยเสริมความยืดหยุ่นและเสริมการทำงานของโปรตีนในผิว

คุณสมบัติ : เพิ่มความชุ่มชื้นและความกระชับของผิว ลดเลือนริ้วรอยและร่องลึก ผิวกระจ่างใส ผิวอิ่มเอิบ ตึงกระชับ

 โรสรูท (Rose root) หรือ ( Rhodiola rosea root) 

กลไก : ป้องกันความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งอนุมูลอิสระเป็นตัวการทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ นอกจากนี้สารสกัดยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน endorphin ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้ผิวผ่อนคลาย ไม่เครียด

คุณสมบัติ : ผิวมีความสุข บำรุงผิวหน้า ผิวกาย และเส้นผม

 ไวด์ อินดิโก้ (Wild indigo) หรือ ( Tephrosia purpurea seed) 

กลไก : ยับยั้งการปล่อยฮอร์โมนความเครียดที่เป็นสาเหตุให้ผิวแก่เร็ว และกระตุ้นการผลิต β-endorphin ช่วยให้ผิวทำงานได้อย่างมีความสุข

คุณสมบัติ : ปกป้องผิวจากมลภาวะ ปรับผิวให้สว่าง ลดรอยแดงของผิว ปรับสีผิวโดยรวม ลดขอบตาคล้ำ

 วอเตอร์ลิลลี่ (Water lily) หรือ ( Nymphaea alba flower) 

กลไก : ยับยั้งเม็ดสีที่เกิดการการอักเสบเมื่อผิวเกิดความเครียด เมื่อผิวรับความเครียดเข้ามาก็จะเริ่มกระบวนการอักเสบขึ้น ผลกระทบจากกระบวนการอักเสบคือ ผิวมีการผลิตเม็ดสีขึ้นเกินความจำเป็น ทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

คุณสมบัติ : ผิวกระจ่างใสขึ้น จุดด่างดำลดลง

2. สารออกฤทธิ์สำหรับผิวแพ้ง่าย (neurocosmetic ingredients for sensitive skin)

     ผิวแพ้ง่ายคือ สภาวะทางผิวหนังที่มีอาการทางประสาทสัมผัสผิดปกติหรือแพ้สัมผัส ส่วนใหญ่มีอาการผื่นแดง แสบร้อน ปวด คัน และเสียวแปลบปลาบ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ยิ่งเกราะป้องกันผิวเสียหายมากก็ยิ่งแพ้ได้ง่ายขึ้น อาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเส้นใยประสาทผิวหนัง เนื่องจากมีตัวรับที่เรียกว่า transient receptor potential (TRP) ทำงานมากเกินไปในผิวจนเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่องและมีรอยแดงปรากฎขึ้นที่ผิว ซึ่ง TRP มีหน้าที่ในการถ่ายทอดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TRPV1 vanilloid receptor ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด

     เมื่อมีสารเคมี เช่น แคปไซซิน (capsaicin) อุณหภูมิความร้อน และ pH ที่เป็นกรด สัมผัสโดนผิว สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกของ TRPV1 ทำให้เกิดการรับรู้ความเจ็บปวดหรือเผ็ดร้อน นอกจากนี้ TRPV1 ยังมีบทบาทในการทำให้ผิวแก่ชราอีกด้วย ด้วยการควบคุมเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจนในผิวหนัง กระตุ้นให้ผิวแก่ชรา และก่อให้เกิดการอักเสบในผิว ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นตามอายุและพฤติกรรมการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ วิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้สำหรับผิวแพ้ง่ายคือ การเพิ่มความทนทานให้กับผิวโดยการลดจำนวน TRPV1 ลง

 

ตัวอย่างสารสกัด

 นอร์ทเทิร์น ทรัฟเฟิล (Northern truffle) หรือ Albatrellus ovinus 

กลไก : บล็อก TRPV1 ขัดขวางการอักเสบที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์ประสาท เพราะ TRPV1 จะทำให้ผิวเกิดรอยแดง นั่นเอง

คุณสมบัติ : ลดความไม่สบายผิวและการระคายเคืองผิว ป้องกันความเครียดจากความร้อนและปลอบประโลมผิวแพ้ง่ายป้องกันเกราะป้องกันผิวจากรังสี IR เพิ่มความทนทานโดยรวมของผิวต่อการระคายเคือง

 เรด ไมโครแอลก้า (Red microalga) หรือ Rhodosorus marinus 

กลไก : ลด TRPV1 ยับยั้ง IL-1α, NRG และ NGF R มาร์กเกอร์เหล่านี้ล้วนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบในผิวได้

คุณสมบัติ : ผิวไม่ไวต่อสิ่งเร้า ปลอบประโลมประสาทและผิว ผิวผ่อนคลาย

 ปาล์มมิโทอิล ไตรเปปไทด์ -8 (Palmitoyl tripeptide-8) 

กลไก : ลดการอักเสบของระบบประสาท (IL-8, TNF-α) ที่เกิดจาก Substance P ซึ่งเป็นนิวโรเปปไทด์เกี่ยวข้องกับเส้นใยประสาท

คุณสมบัติ : ลดอาการผิวแพ้ง่ายที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของระบบประสาทที่ผิวหนัง ป้องกันการอักเสบ เช่น รอยแดงและบวม ปลอบประโลมผิวระคายเคืองที่เกิดจากรังสียูวี ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน และความเครียด

 ซูกินี (Zucchini) หรือ Cucurbita pepo seed 

กลไก : ยับยั้งการสลายตัวของ mast cells เพราะเซลล์นี้จะบรรจุสารฮีสตามีนเอาไว้ เมื่อผิวเกิดการแพ้ก็จะปลดปล่อยสารที่บรรจุไว้ออกมา นอกจากนี้ยังยับยั้งการปล่อยฮีสตามีนที่เกิดจาก substance P ซึ่งเป็นนิวโรเปปไทด์เกี่ยวข้องกับเส้นใยประสาทด้วยเช่นกัน ผิวก็จะไม่แสดงอาการแพ้

คุณสมบัติ : ปกป้องผิวที่แพ้ง่าย ปลอบประโลมผิวที่ระคายเคือง

 สวิส สโตน ไพน์ (Swiss stone pine) หรือ Pinus cembra wood 

กลไก : ยับยั้งการอักเสบของระบบประสาท ยับยั้งการทำงานของ TRPV1 ยับยั้งการปลดปล่อย proinflammatory mediators (CGRP, IL-8 และ PGE2) ยับยั้งการผลิต MMP-1 ที่เกิดจากรังสี UVA มาร์กเกอร์เหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเกิดการอักเสบและรอยแดงในผิว

คุณสมบัติ : ลดรอยแดง ลดจุดด่างดำปรับสีผิวโดยรวมให้สม่ำเสมอ ปลอบประโลมผิวที่บอบบางและระคายเคือง ปกป้องผิวจากความเครียด

3. สารออกฤทธิ์สำหรับผิวแก่ชรา (neurocosmetic ingredients for skin aging)

     กระบวนการแก่ชราจะค่อยเป็นค่อยไปตามอายุที่มากขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายและกลไกทางชีวภาพ เช่น การแสดงออกทางใบหน้าทำให้เกิดริ้วรอยร่องลึกในระดับที่แตกต่างกัน หรือคอลลาเจนในผิวที่ลดลงสวนทางกับอายุที่มากขึ้นก็ทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่นขึ้นมาได้ ผิวที่แก่ชราคือ ผิวที่เสื่อมสภาพ ขาดความยืดหยุ่น สูญเสียความชุ่มชื้นในผิวตามธรรมชาติ เสียสมดุลในผิวจนเกิดการอักเสบ และยังส่งผลให้การผลิตเม็ดสีเมลานินผิดปกติ มีการสร้างเม็ดสีมากเกินไป จึงทำให้มีฝ้าและกระเกิดขึ้นบนใบหน้า

     นอกจากนี้กระบวนการแก่ชราของผิวสามารถเร่งให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกกระตุ้นจนเกิดอนุมูลอิสระ เช่น สารเคมีและรังสียูวี ซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) อนุมูลอิสระเหล่านี้ไม่มีความสมดุลในตัวเอง จึงมาจับกับเซลล์ผิว ผิวก็เกิดความไม่สมดุลขึ้นหรือเกิดภาวะเครียดนั่นเอง สมองจะสั่งให้หลั่งเอนไซม์ย่อยสลายคอลลาเจน ซึ่งจะทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่นและเหี่ยวย่น ดังนั้นสารต้านอนุมูลอิสระและสารนิวโรคอสเมติกที่เสมือนโบท็อกซ์จึงเข้ามาแก้ปัญหาผิวตรงจุดนี้

 

ตัวอย่างสารสกัด

 ไตรฟลูออโรอะซิทิล ไตรเปปไทด์-2 (Trifluoroacetyl tripeptide-2) 

กลไก : ลดการสังเคราะห์ progerin ยับยั้ง MMPs และเอ็นไซม์ elastase ซึ่งเป็นตัวย่อยอีลาสตินในผิว เมื่ออีลาสตินไม่ถูกทำลาย ผิวก็จะยืดหยุ่นได้ดี

คุณสมบัติ : ปรับความยืดหยุ่นและความกระชับของ ลดสัญญาณแห่งวัย เช่น ความหย่อนคล้อยและริ้วรอย ยกกระชับผิวบริเวณกรอบหน้า

 ไฮโดรไลซ์ อัลจิน (Hydrolyzed algin) 

กลไก : เพิ่มการผลิต neuroprotector sAPPα ซึ่งช่วยป้องกันเส้นใยประสาทเสื่อม และป้องกันคอลลาเจน และอีลาสตินจากความเป็นพิษ

คุณสมบัติ : ลดริ้วรอยร่องลึก ปกป้องเส้นใยประสาทจาก neuro-aging

 Yarrow (Achillea millefolium) 

กลไก : ปรับความหนาของผิวชั้นนอก กระตุ้นการสังเคราะห์ filaggrin, cytokeratin 10, MO-R1, และ MC-2R receptors

คุณสมบัติ : ปรับสภาพผิว เร่งการผลัดผิวใหม่ ปรับผิวให้นุ่ม กระจ่างใส ลดเลือนริ้วรอยและรูขุมขน

 Mastic tree (Pistacia lentiscus) 

กลไก : กระตุ้นโปรตีน KLOTHO และ FOXO  ดีท็อกซ์เซลล์ผิว ปรับการทำงานของเซลล์ผิว ปรับการสังเคราะห์collagen type I

คุณสมบัติ : ยกกระชับผิว ผิวดูอ่อนเยาว์

 Pyroglutamylamidoethyl indole 

กลไก : เพิ่มความสามารถของเซลล์ประสาทเพื่อรองรับการสลายไขมัน ทำงานร่วมกับคาเฟอีนเพื่อการลดน้ำหนัก เพิ่มความสามารถในการหดตัวของไฟโบรบลาสต์ร่วมกับ NGF

คุณสมบัติ : ปรับสภาพผิวด้านความกระชับ ความหนาแน่น และความยืดหยุ่น (neuroprotection) ปรับลักษณะเซลลูไลท์ (neuroslimming) ป้องกันเซลล์ประสาทเสื่อม 

     ในผลิตภัณฑ์นิวโรคอสเมติกมีการใช้สารออกฤทธิ์ที่เป็นเปปไทด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางเคมีเปปไทด์เป็นสายโซ่สั้น ๆ ของกรดอะมิโนที่เชื่อมโยงกันด้วยพันธะเปปไทด์ สามารถส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในระดับผิว หรือเดินทางเข้าสู่ผิวแล้วจับกับสารสื่อประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้เปปไทด์ได้พัฒนาให้แทรกซึมเข้าสู่ผิวได้ดียิ่งขึ้น ปรับการทำงานให้ดีขึ้นเป็น bioactive peptides หรือที่เรียกกันว่า biomimetic peptides ซึ่งถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากช่วยป้องกันและลดอาการของผิวที่ถูกทำลายและมีการทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการแก่ชรา การสร้างเม็ดสีผิดปกติ และริ้วรอย

     ไบโอมิเมติกเปปไทด์ มีความสามารถหลายอย่าง โดยเฉพาะการส่งสัญญาณหรือควบคุมโมเลกุลในกระบวนการต่างๆ ของผิว ทำงานในรูปแบบ key&lock คือมีเปปไทด์และตัวรับที่เข้าคู่กันได้พอดี ด้วยการทำงานแบบนี้ จึงทำให้มีประสิทธิภาพมาก ในผลิตภัณฑ์นิวโรคอสเมติก ไบโอมิเมติกเปปไทด์จะช่วยส่งสัญญาณและยับยั้งสารสื่อประสาท เพื่อต่อต้านริ้วรอยต่าง ๆ ออกฤทธิ์ได้แม้ในความเข้มข้นต่ำ

ประเภทเปปไทด์แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้

1. เปปไทด์ส่งสัญญาณ (signal peptides)
เช่น signal oligopeptides หรือ matrikines สามารถส่งสัญญาณกระตุ้นไฟโบรบลาสต์ที่ผิวได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับของคอลลาเจน อีลาสติน โปรตีโอไกลแคน ไกลโคซามิโนไกลแคน (GAG) และไฟโบรเนกติน ทำให้ผิวกระชับและดูอ่อนกว่าวัย

2. เปปไทด์นำส่ง (carriers peptides)
เช่น ไลโปโซม (liposome) ช่วยนำส่งสารทางผิวหนังผ่านสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ไลโปโซมปกป้องสารออกฤทธิ์ที่ห้อหุ้มได้ดีและไม่ระคายเคืองต่อผิว

3. เปปไทด์ยับยั้งเอนไซม์ (enzyme inhibitor peptides)
ทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยต่อต้านความชราได้ถึงชั้นหนังแท้

4. เปปไทด์ยับยั้งสารสื่อประสาท (neurotransmitter inhibitor peptides)
เช่น อะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัว ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ริ้วรอยคลายตัว

ได้แก่ acetyl hexapeptide-1, acetyl hexapeptide-3, acetyl hexapeptide-8, acetyl hexapeptide-30, palmitoyl hexapeptide-19,  pentapeptide-18, pentapeptide-3, acetyl octapeptide-3, และ tripeptide-3 เปปไทด์เหล่านี้ยังเป็น เปปไทด์ทางเลือกแทน botulinum neurotoxin (botox) อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีสารสกัดจากธรรมชาติที่เสมือนโบท็อกซ์ (botox-like) เช่น ผักคราดหัวแหวน (acmella oleracea), กระเจี๊ยบ (hibiscus esculentus), และ ลาเวนเดอร์ (lavandula stoechas)

     นิวโรคอสเมติก (neurocosmetics) เรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ช่วยให้ผิวสวยสุขภาพดีโดยมีการทำงานร่วมกับสมองผ่านสารสื่อประสาทที่อยู่ในเซลล์ผิว เป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาแก้ปัญหาผิวเราได้อย่างสุดยอดสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยจัดการกับความเครียดในผิว การดูแลผิวแพ้ง่ายให้มีความแข็งแรงมากขึ้น รวมไปถึงการดูแลผิวแก่ชราให้กลับมาดูอ่อนเยาว์ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือถึงแม้นิวโรคอสเมติกจะช่วยดูแลผิวของเราได้ แต่เราก็ไม่ควรเพิ่มภาระให้ผิวมากจนเกินไป ควรทำกิจกรรมควบคู่กันไป เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การนอนหลับให้เพียงพอ การจัดการกับความเครียด และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหากจำเป็น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้สุขภาพผิวโดยรวมดีขึ้นได้แน่นอน

ข้อมูลจาก

Rizzi, V., Gubitosa, J., Fini, P., & Cosma, P. (2021). Neurocosmetics in skincarethe fascinating world of skinbrain connection: a review to explore ingredients, commercial products for skin aging, and cosmetic regulation. Cosmetics, 8(3), 66.


บทความที่เกี่ยวข้อง
Trend 2025 Self Care Practices With Alternative Product เทรนด์ดูแลตัวเองให้ดูดีขึ้นอย่างยั่งยืน
อัปเดตเทรนด์ดูแลตัวเองปี 2025 เพื่อการดูแลตัวเองอย่างยั่งยืน รวมมาให้ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ Head to Toe ให้คุณหันกลับมารักตัวเองมากกว่าที่เคย
17 ม.ค. 2025
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.29 การโฆษณาเครื่องสำอาง (Cosmetics Advertising) อัปเดทล่าสุดปี พ.ศ.2567
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ขายดีย่อมต้องมีการโฆษณา ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ แต่การที่จะโฆษณาเครื่องสำอางได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการโฆษณาเครื่องสำอาง และปัจจุบันทางกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายได้มีการปรับปรุงคู่มือการโฆษณา ฉบับล่าสุดปี พ.ศ.2567
9 ธ.ค. 2024
Complete Guide เริ่มต้นธุรกิจสปา ตั้งแต่คิดคอนเซปจนถึงเปิดร้าน
เรียนรู้ขั้นตอนสำคัญในการวางแผนทำธุรกิจร้านสปา ตั้งแต่เริ่มต้นคิดคอนเซปต์จนถึงวันเปิดร้านวันแรก เรียนรู้เรื่องการเงิน และการตลาดสู่ความสำเร็จของธุรกิจ
26 พ.ย. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ