share

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.25 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การประเมินประสิทธิภาพ (Efficacy Test)

Last updated: 25 Jun 2024
1194 Views
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.25 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การประเมินประสิทธิภาพ (Efficacy Test)

     มาถึง EP. สุดท้ายของหัวข้อการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันแล้ว ในปัจจุบันนี้ การกล่าวอ้างสรรพคุณในเครื่องสำอางจะต้องมีหลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างนั้นได้ โดยการประเมินประสิทธิภาพเครื่องสำอางก็เป็นอีกการทดสอบที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณเครื่องสำอางที่โฆษณาได้ การทดสอบจะทำในอาสาสมัครและใช้เครื่องมือเฉพาะในการประเมินประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ได้จึงมีความน่าเชื่อถือใช้อ้างอิงได้

     การประเมินประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคือ การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องสำอางตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างในฉลากสินค้าและโฆษณา ตามคู่มือการโฆษณาเครื่องสำอางของสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หากมีการกล้าวอ้างสรรพคุณของสารด้วยจะต้องเป็นสรรพคุณที่อยู่ในขอบข่ายของความเป็นเครื่องสำอางและต้องมีสารดังกล่าวเป็นส่วนผสมในปริมาณที่เพียงพอแก่การกล่าวอ้างสรรพคุณและจะต้องพิสูจน์ได้ โดยตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานตามแนวทางในการแสดงหลักฐาน เพื่อพิสูจน์หรือสนับสนุนข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง ซึ่งเอกสารหลักฐาน ได้แก่

  1. เอกสารทางวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและเชื่อถือได้ เช่น ตำรา หรือวารสารทางวิชาการที่ใช้ในการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาเครื่องสำอางทางการแพทย์ หรือทางเภสัชศาสตร์
  2. หนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันเอกชนที่เชื่อถือได้ ที่รับผิดชอบในเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องนำพิสูจน์ทั้งของไทยหรือต่างประเทศ หรือ
  3. ผลการทดลองหรือตรวจสอบคุณภาพเครื่องสำอางของทางสถาบันทางราชการทั้งไทยหรือต่างประเทศ หรือสถาบันการศึกษาอันมีความเชี่ยวชาญในแขนงวิชาการอันต้องพิสูจน์ หรือ
  4. ผลการทดลองหรือตรวจสอบคุณภาพเครื่องสำอางของสถาบันเอกชนทั้งของประเทศไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งสถาบันเหล่านี้จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องนำพิสูจน์

     โดยการประเมินประสิทธิภาพดังกล่าวจะถูกกำหนดวิธีการและทำการทดสอบเพื่อหาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ให้ใด้ตามคุณสมบัติตามที่ประกาศหรือโฆษณาไว้ รวมทั้งที่ปรากฏบนฉลากสินค้า โดยจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและการร้องเรียนจากผู้บริโภค

     ในการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกในอาสาสมัคร จะมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ชัดเจน เช่น ช่วงอายุ เพศ สภาพผิว อาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคผิวหนังและบาดแผล ไม่มีประวัติการเป็นโรคผิวหนังมาก่อน และไม่มีประวัติการแพ้ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น การออกแบบการทดสอบจะขึ้นอยู่กับการประเมินคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ว่าควรออกแบบระเบียบวิธีวิจัยอย่างไรให้อยู่ในขอบเขตความเป็นเครื่องสำอางที่เป็นไปได้และไม่กล่าวอ้างเกินจริง ทีเอ็นพีจึงขอสรุป 3 การทดสอบ คือ ความชุ่มชื้น ความกระจ่างใส และการลดเลือนริ้วรอย แชร์วิธีทดสอบที่น่าสนใจในแต่ละคุณสมบัติให้รู้กัน

ทดสอบประสิทธิภาพความชุ่มชื้นของผิวหนัง

     การวัดความชุ่มชื้นในผิวหนังจะใช้เครื่องวัด Corneometer เป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์ปริมาณความชุ่มชื้นของผิวหนังทั้งในทางการแพทย์และทางความสวยความงาม โดยวัดค่าการนำไฟฟ้า (dielectric constant) ที่ผิวของผู้เข้ารับการทดสอบ ยิ่งค่าสูงจะหมายถึงผิวหนังชั้นนอกมีน้ำมาก ผิวมีความชุ่มชื้นสูงนั่นเอง

การทดสอบประสิทธิภาพความชุ่มชื้นของผิวหนังสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ระยะสั้นและระยะยาว

1. ทดสอบประสิทธิภาพความชุ่มชื้นระยะสั้น
ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณแขนให้สะอาด จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจะทำการทดสอบในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นตามที่กำหนดในระเบียบวิจัย เช่น หลังทำความสะอาดแล้วพักแขนที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส 30 นาที ก่อนเริ่มทำการทดสอบ จากนั้น ประเมินค่าความชุ่มชื้นผิวหนังท้องแขนก่อนเริ่มทดสอบด้วยเครื่องคอร์นีโอมิเตอร์ (corneometer) แล้วทำการทาผลิตภัณฑ์ทดสอบที่ผิวหนังบริเวณท้องแขนและวัดค่าหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการวัดค่าความชุ่มชื้นจะถูกกำหนดไว้ตามการกล่าวอ้าง เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทันทีที่ใช้และชุ่มชื้นยาวนาน 8 ชั่วโมง ก็จะทำการวัดค่าหลังทาผลิตภัณฑ์ทันทีและเมื่อครบ 8 ชั่วโมง หรือจะแบ่งช่วงวัดให้ถี่ขึ้นเป็น หลังทา 30 นาที 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง 4 ชั่วโมง เพื่อดูแนวโน้มความชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน

2. ทดสอบประสิทธิภาพความชุ่มชื้นระยะยาว
การทดสอบช่วงเริ่มต้นจะเหมือนการทดสอบในระยะสั้น เพียงแต่การทดสอบในระยะยาวนี้จะใช้เวลามากกว่า ตั้งแต่ 1 - 28 วัน แล้วแต่การกล่าวอ้าง ซึ่งอาสาสมัครจะต้องนำผลิตภัณฑ์ทดสอบกลับไปใช้เองที่บ้าน โดยทาผลิตภัณฑ์ที่ท้องแขนวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ต่อเนื่องทุกวันตามที่กำหนด และงดใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ บริเวณที่ทำการทดสอบ จากนั้น กลับมาที่ห้องทดสอบเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวัดค่าความชุ่มชื้นในผิวหนังหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการวัดค่าความชุ่มชื้นจะถูกกำหนดไว้ตามการกล่าวอ้าง เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวยาวนาน 24 ชั่วโมงและคงความชุ่มชื้นในผิวได้ยาวนาน 7 วัน เมื่อใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ใช้เครื่องคอร์นีโอมิเตอร์วัดหลังใช้ 24 ชั่วโมง หลังใช้ต่อเนื่อง 7 วัน (เพิ่มเป็น 14 - 28 วันได้เช่นกัน) และหลังหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ 7 วัน

วิธีทดสอบนี้ สามารถดูแนวโน้มความชุ่มชื้นในผิวหนังของอาสาสมัครได้ โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังมักจะเป็นความชุ่มชื้นในผิวหนังของอาสาสมัครมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 7 วัน และยังคงรักษาค่าความชุ่มชื้นผิวได้อย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะทำการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลา 7 วัน จากผลลัพธ์นี้ สามารถกล่าวอ้างในฉลากและโฆษณาได้ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวยาวนาน 24 ชั่วโมงและคงความชุ่มชื้นในผิวได้ยาวนาน 7 วัน

*ต้องมีหมายเหตุถึงการทดสอบและสถาบันที่ทำการทดสอบ

วิธีการทดสอบความชุ่มชื้นในผิวหนังจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามการกล่าวอ้าง เช่น ชุ่มชื้นยาวนาน 48 ชั่วโมง ในการทดสอบก็จะทำการทดสอบในระยะเวลา 48 ชั่วโมง ยิ่งระยะเวลาทดสอบน้อย ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการทดสอบก็จะไม่สูงมาก ซึ่งตรงจุดนี้ นักวิจัยที่พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์จะต้องคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้กำหนดขอบเขตการกล่าวอ้างและไม่เกิดการทดสอบอย่างเสียเปล่า

ความแข็งแรงของเกราะป้องกันผิวหนัง
อีกหนึ่งการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับความชุ่มชื้นในผิวหนังคือ การทดสอบการสูญเสียความชุ่มชื้นผ่านผิวหนัง หรือที่เรียกกันว่า Trans Epidermal Water Loss (TEWL) สามารถบอกความแข็งแรงของเกราะป้องกันผิวหนังได้ เป็นการวัดความชุ่มชื้นของผิวหนังในอาสาสมัครก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์โดยใช้เครื่องเทวามิเตอร์ (tewameter) การออกแบบวิธีการทดสอบจะเหมือนกับการทดสอบประสิทธิภาพความชุ่มชื้น สามารถแบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาวได้เช่นกัน ยิ่ง TEWL มีค่าสูงหมายถึง มีการสูญเสียน้ำจากผิวมาก แสดงว่าเกราะป้องกันผิวมีความแข็งแรงน้อยหรือมีการเสื่อมสภาพ

ทดสอบประสิทธิภาพความกระจ่างใสของผิวหนัง

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารไวท์เทนนิ่ง (whitening products) และมีการกล่างอ้างถึงประสิทธิภาพความกระจ่างใสนั้นจะมีข้อบังคับที่กำหนดไว้ดังนี้

1. ห้ามใช้ข้อความหรือภาพโฆษณาที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพของเครื่องสำอางว่า สามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติ หรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน
2. การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่าเครื่องสำอางมีสรรพคุณช่วยให้ผิวพรรณแลดูกระจ่างใส ต้องแสดงข้อความที่มีความหมายทำให้เข้าใจว่า เครื่องสำอางไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสีผิวตามธรรมชาติของแต่ละบุคคลได้
3. การโฆษณาที่มีการอ้างอิงผลการศึกษา/ผลการทดสอบ หรือทดลองจากห้องปฏิบัติการขององค์กรใด ๆ ต้องแสดงข้อความที่มีความหมายทำให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคลด้วย

เม็ดสีเมลานิน (melanin)
เม็ดสีเมลานินถูกสร้างในชั้นหนังกำพร้า โดยเซลล์ที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ (melanocytes) ในกระบวนการสร้างเม็ดสี ถ้าทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปจะทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ เกิดฝ้า กระ รอยหมองคล้ำ รอยด่างขาว และขี้แมลงวันในคนสูงอายุ โดยเม็ดสีมีอยู่ 2 แบบ คือ
1. eumelanin ได้แก่ เม็ดสีดำ พบในคนเอเชียและคนที่ผิวคล้ำ คนผิวขาวจะมีเม็ดสีชนิดนี้น้อยกว่ามาก
2. pheomelanin ได้แก่เม็ดสีแดง (oxyhemoglobin) หรือสีเหลือง (carotene) ซึ่งจะพบในคนที่ผิวขาวมากกว่าคนที่ผิวคล้ำ

   การประเมินประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารไวท์เทนนิ่ง ใช้วิธีการวัดความเข้มของเม็ดสีเมลานิน โดยเครื่องแมกซามิเตอร์ (mexameter)  ซึ่งเป็นเครื่องวัดสีผิวที่ใช้หลักการการดูดกลืนของแสง ดังนี้ สีเขียว 568 nm สีแดง 660 nm และอินฟราเรด 870 nm โดยเริ่มต้นวัดก่อนใช้ผลิตภัณฑ์และหลังใช้ผลิตภัณฑ์ หากค่าระดับเม็ดสีเมลานินมีการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ค่าระดับความเข้มของเม็ดสีเมลานินที่วัดได้จะลดลง ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการช่วยให้ผิวกระจ่างใส

การทดสอบประสิทธิภาพความกระจ่างใสโดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ ทดสอบในหลอดทดลองและในอาสาสมัคร
1. ทดสอบประสิทธิภาพความกระจ่างใสในอาสาสมัคร (in-vivo)
ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณแขนให้สะอาด วัดค่าเมลานินก่อนทาผลิตภัณฑ์ทดสอบโดยแมกซามิเตอร์ ทาผลิตภัณฑ์ที่ผิวบริเวณท้องแขน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น งดใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ บริเวณที่ทำการทดสอบและใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด โดยส่วนมากมักจะกล่าวอ้างผลลัพธ์ความกระจ่างใสที่ 7-28 วัน ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวัดค่าเมลานินหลังใช้ผลิตภัณฑ์ 1, 2, 3, และ 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพผิวของผู้ทดสอบ สิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ และปัจจัยอื่น ๆ ของผู้ทดสอบ ทำให้ผลของค่าเมลานินที่ผิวหนังมีค่าที่ได้แตกต่างกัน
วิธีทดสอบนี้ สามารถดูแนวโน้มความกระจ่างใสของผิวได้ในแต่ละสัปดาห์ โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือผิวของอาสาสมัครที่แลดูกระจ่างใสขึ้นเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง สามารถกล่าวอ้างได้ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ให้ผิวแลดูกระจ่างใสขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติใน 28 วัน ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล

2. ทดสอบประสิทธิภาพความกระจ่างใสในหลอดทดลอง (in-vitro)
การวัดความกระจ่างใสในหลอดทดลองทำได้หลายการทดสอบ แต่ที่นิยมใช้บ่อย ๆ คือ การทดสอบประสิทธิภาพ tyrosinase inhibition เป็นการทดสอบการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส เอนไซม์นี้เป็นตัวการสำคัญที่ช่วยสร้างเม็ดสีเมลานินขึ้นมาในผิวหนัง ทำให้ผิวมีสี หรือหากผลิตเม็ดสีออกมามากเกินไปก็จะเกิดจุดด่างดำขึ้น ผิวดูหมองคล้ำไม่สดใส สารสกัดที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผิวกระจ่างใสจึงใช้วิธีนี้ในการประเมินเบื้องต้น เมื่อพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีก็จะนำไปทดลองผสมในสูตรผลิตภัณฑ์ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันแล้วค่อยทำการทดสอบในอาสาสมัคร

นำสารทดสอบมาเติมเอนไซม์ไทโรซิเนสบ่มที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส 10 นาที แล้ววัดค่าการดูดกลืนแสงที่ 490 นาโนเมตร ด้วยเครื่องอ่านไมโครเพลท (microplate reader) โดยหาค่าร้อยละของการยับยั้ง (%Inhibition) เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน เช่น โคจิกแอซิด (kojic acid) เปอร์เซ็นต์การยับยั้งที่สูงแสดงว่าลดการสร้างเม็ดสีเมลานินได้มาก

Did you know รู้หรือไม่?
สารที่มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวกระจ่างใสและมีงานวิจัยรองรับ ได้แก่ อาร์บูติน วิตามินซีและอนุพันธ์ กลาบริดินในชะเอม กรดเอเอชเอ ฟลาโวนอยด์ วิตามินบี3หรือไนอะซินาไมด์ โพลีฟีนอล kazinol Fในปอสา mulberroside Fในใบหม่อน aloesinในว่านหางจระเข้ pcoumaric acidในใบโสม แปะก๊วย ชาเขียว เป็นต้น

ทดสอบประสิทธิภาพการลดเลือนริ้วรอย

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางลดริ้วรอย (anti-aging, anti-wrinkle products) ที่มีการกล่างอ้างถึงประสิทธิภาพการลดริ้วรอยจะมีข้อบังคับที่กำหนดไว้ดังนี้ ห้ามใช้ข้อความหรือภาพที่สื่อความหมายถึงประสิทธิภาพในการป้องกัน ชะลอ หรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการเสื่อมสภาพอันเนื่องจากอายุที่มากขึ้น การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณ ช่วยลด ชะลอ หรือปกป้องผิวจากริ้วรอย ต้องแสดงข้อความที่ทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับผลในการใช้ในช่วงเวลาเมื่อใช้เครื่องสำอางเท่านั้น และผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคลด้วย สำหรับสรรพคุณในการปกปิดริ้วรอย เช่น กลุ่ม foundation หรือ concealer ต้องแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสามารถปกปิดริ้วรอยได้ในขณะใช้เท่านั้น

คอลลาเจน อิลาสติน และไกลโคซามิโนไกลแคน
เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่การเสื่อมหรือเกิดความแก่ขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ผิวหนังจะมีปริมาณคอลลาเจน อิลาสติน และไกลโคสะมิโนไกลแคนที่ลดลงส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัด คือ มีร่องลึก ริ้วรอย

ผิวขาดความยืดหยุ่น เป็นต้น โดยโครงสร้างของผิวชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้าจะถูกพยุงไว้ด้วย

1. คอลลาเจน (collagen) มีคุณสมบัติในการยืดได้น้อยมากแต่มีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้ดี คอลลาเจนจะกระจายอยู่ทั่วชั้นหนังแท้ เป็นประเภท type I และ III ส่วน type VI จะกระจายอยู่ตามรอยต่อของผิวหนังชั้นหนังแท้กับหนังกำพร้า

2. เส้นใยอิลาสติน (elastic fiber) มีคุณสมบัติในการยืดและหดได้เหมือนยาง ช่วยทำให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่น

3. ไกลโคซามิโนไกลแคน (glycosaminoglycan (GAG) หรือ mucopolysaccharide) มีหน้าที่ทำให้ ผิวหนังชั้นหนังแท้มีความชุ่มชื้นเพราะมีความสามารถในการดูดความชื้นสูง เช่น hyaluronic acid และ chondroitin sulphate glycosaminoglycan

การทดสอบที่สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนคือ การทดสอบประสิทธิภาพการลดเลือนริ้วรอยรอบดวงตา ผู้เชี่ยวชาญจะทำการทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครที่ไม่มีการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาริ้วรอยรอบดวงตาอยู่แล้วเป็นประจำ และมีริ้วรอยบริเวณรอบดวงตา ทาผลิตภัณฑ์ทดสอบรอบดวงตาวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ และงดใช้ผลิตภัณฑ์อื่นบริเวณที่ทำการทดสอบ วัดประเมินค่าความยืดหยุ่นของผิวด้วยเครื่อง cutometer และประเมินความหยาบของผิว ความราบเรียบของผิว และความกว้างของรอยย่นของผิวด้วยเครื่อง visioscan อาสาสมัครทุกคนจะได้รับการตรวจประเมินทุก ๆ 4 สัปดาห์ ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยจะมีการประเมินผลความยืดหยุ่นของผิว ความหยาบของผิว ความราบเรียบของผิว ความกว้างของรอยย่นของผิว และผลข้างเคียงในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8 นอกจากนี้ สามารถประเมินความเปลี่ยนแปลงริ้วรอยจากภาพถ่ายโดยใช้ Rao-Goldman 5-point visual scoring scale ร่วมด้วยได้ โดยจะแบ่งระดับคะแนน ดังนี้

1 = ไม่พบริ้วรอย (wrinkle absent-I)
2 = ริ้วรอยตื้นที่มองเห็นได้ (shallow but visible-II)
3 = ริ้วรอยลึกปานกลาง (moderately deep-III)
4 = ริ้วรอยร่องลึก (deep with well-defined edges-IV)
5 = ริ้วรอยร่องลึกและมีรอยพับย่น (very deep with redundant folds-V)

วิธีทดสอบนี้ สามารถดูแนวโน้มการลดเลือนริ้วรอยรอบดวงตาได้ ซึ่งริ้วรอยเป็นส่วนที่เครื่องสำอางดูแลได้แต่ใช้เวลานานจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง การทดสอบจึงใช้เวลานานกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ ไม่มีอาการแพ้หรือระคายเคืองใด ๆ โดยมีการเพิ่มขึ้นของความยืดหยุ่นของผิว ความราบเรียบของผิว และมีการลดลงของความกว้างของรอยย่นของผิวและความหยาบของผิว สามารถกล่าวอ้างได้ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ ช่วยลด/ชะลอ/ปกป้องผิวจากริ้วรอยได้ใน 8 สัปดาห์ เมื่อใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องและผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล

Did you know รู้หรือไม่?
สารสกัดที่ช่วยลดเลือนริ้วรอยและมีงานวิจัยรองรับ คือ ใบบัวบก สารที่พบในใบบัวบกจัดอยู่ในกลุ่มไตรเทอปินอยด์ ไกลโคไซด์ (triterpenoid glycoside) ซึ่งประกอบด้วย กรดเอเชียติก (asiatic acid) สารเอเชียติโคไซด์ (asiaticoside) กรดแมดิแคสซิค (madecassic acid) และสารแมดิแคสซอล (medecassol) ช่วยหลั่งสาร procollagen I N-peptide (PINP) และ procollagen II N-peptide (PIINP) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของคอลลาเจนมากขึ้น และผลิตคอลลาเจนชนิดที่หนึ่ง (collagen type 1)

     ในปัจจุบัน การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นเรื่องง่ายดายเพียงกดค้นหาและสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องสำอางกลายจึงเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ต้องแสดงให้ผู้บริโภครับรู้ในทุกช่องทางที่วางจำหน่ายสินค้า ตัวผู้บริโภคเองก็จะเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ได้รู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของเครื่องสำอางที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งข้อดีของการประเมินประสิทธิภาพอีกอย่างคือ เป็นการปกป้องผู้บริโภคก่อนใช้ผลิตภัณฑ์และพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใช้งานได้จริง สนใจสร้างแบรนด์เครื่องสำอางทางทีเอ็นพีมีบริการส่งทดสอบประสิทธิภาพจากห้องทดลองที่น่าเชื่อถือ สร้างแบรนด์อย่างครบวงจร ปรึกษาเลย!

ที่มา
คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางที่น่าไว้วางใจ


ไขข้อสงสัย ทากันแดด 2 ข้อนิ้ว ปกป้องผิวดีที่สุด จริงหรือ?

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 Aug 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)
ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายให้ถูกต้อง
25 Jun 2024
11 Ingredients ที่เป็นประเด็นกับความยั่งยืน
ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนมากขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างจำกัด ทำให้เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนส่วนผสมเครื่องสำอางที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้ใช้
25 Jun 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ