R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.07 เทคนิคการตั้งตำรับเครื่องสำอาง ตอน ประเภทผิว (Skin Types)

Last updated: 28 เม.ย 2566  |  1047 จำนวนผู้เข้าชม  | 

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง  EP.07 เทคนิคการตั้งตำรับเครื่องสำอาง ตอน ประเภทผิว (Skin Types)

     ถ้าพูดถึงประเภทผิวของคนเรา โดยทั่วไปก็จะแบ่งออกตามสภาพผิว เช่น ผิวแห้ง ผิวมัน ผิวปกติ เป็นต้น แต่นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งประเภทผิวแบบอื่นอยู่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งตาม Phototype และตามเพศ อีพีนี้เราจะมาบอกว่าประเภทผิวมีอะไรบ้างและมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องสำอางและสกินแคร์ส่วนบุคคลนั่นเอง


     ประเภทของสีผิว (Skin Color หรือ Skin Phototype) และสีผมที่มีความแตกต่างกันนั้นได้บ่งบอกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่มีอยู่ และเมื่อปี ค.ศ.1975 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังชาวอเมริกัน โทมัส บี. ฟิตซ์แพทริก ได้จำแนกประเภทผิวขึ้นมา เรียกว่า การแบ่งประเภทผิวแบบ Fitzpatrick โดยพิจารณาจากลักษณะของผิวเมื่อได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultra Violet: UV) ซึ่งแบ่งระดับสีผิวออกเป็น 6 ระดับ ดังนี้


 ประเภทที่ 1 (Type I)  ได้แก่ ผู้ที่มีผมสีแดงหรือผมบลอนด์ ตาสีฟ้า มีกระ และผิวที่ขาวมาก ผิวไม่เคยเปลี่ยนเป็นสีแทน และไหม้แดดได้ง่ายมาก ผู้ที่มีผิวประเภทนี้จะไวต่อแสงแดดมาก เป็นสีผิวส่วนใหญ่ของคนในพื้นที่สภาพอากาศหนาวเย็น แถบสแกนดิเนเวีย ทางตอนเหนือของยุโรป

 ประเภทที่ 2 (Type II)  ได้แก่ ผู้ที่มีผิวขาว ผมสีแดงหรือสีบลอนด์ และดวงตาสีฟ้า สีน้ำตาลแดง หรือสีเขียว ผิวไวต่อแสงแดดมาก ไหม้แดดง่าย และผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนได้น้อยมาก เป็นสีผิวของคนยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย

 ประเภทที่ 3 (Type III)  ได้แก่ ผู้ที่มีผิวสีขาวครีมถึงผิวสีมะกอก ผิวจะมีความเหลือง ผมสีน้ำตาลหรือสีดำ และมีตาสีใดก็ได้ ผิวประเภทนี้ไวต่อแสงแดด สีผิวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและบางครั้งก็ไหม้แดดได้ เป็นประเภทผิวที่พบได้บ่อยมาก มักเป็นสีผิวของคนเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปทางตอนใต้

 ประเภทที่ 4 (Type IV) ได้แก่ ผู้ที่มีผิวสีน้ำตาลเข้ม ผมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ และดวงตาสีเขียว สีน้ำตาลแดง หรือสีน้ำตาล ผิวจะเป็นสีน้ำตาลปานกลาง เมื่อโดนแสงแดดจะมีอาการแสบร้อนน้อย และมีความไวต่อแสงแดดน้อย โดยเป็นสีผิวของคนท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน เช่น แอลจีเรีย

 ประเภทที่ 5 (Type V)  ได้แก่ ผู้ที่มีผิวสีน้ำตาลเข้ม ผิวไหม้แดดได้ยาก และไม่ไวต่อแสงแดด มักจะมีผมสีดำเข้มและดวงตาสีน้ำตาลเข้ม เช่น ทวีปอเมริกาใต้ ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมไปถึงคนอินเดีย

 ประเภทที่ 6 (Type VI) ได้แก่ ผู้ที่มีผิวสีดำ มีผมสีดำและตาสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ผิวไม่ไวต่อแสงแดด และไม่ไหม้แดด พบในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกา และคนแอฟริกันอเมริกัน

 



     สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอ คือ ไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ไหนก็อาจได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากแสงแดดไม่มากก็น้อย และในผิวบางประเภทมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากแสงแดดมากกว่าประเภทอื่นๆ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) ได้จำแนกประเภทผิวคล้ายกับระบบ Fitzpatrick โดยแบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้

 
     ปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ สุขภาพ และประเภทผิว ล้วนเป็นตัวกำหนดว่าจะได้รับผลกระทบจากรังสียูวีมากหรือน้อย ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีความไวต่อรังสียูวีมากกว่าช่วงอายุอื่น และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมักมีแนวโน้มที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการได้รับรังสียูวีได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่มีผิวขาวจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผิวดำ เนื่องจากเม็ดสีเมลานินมีน้อยกว่าผิวดำ ดังนั้นสีผิวที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งควรพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสียูวี



ผิวจะสุขภาพดีได้ สิ่งสำคัญคือต้องคงความชุ่มชื้นของผิว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำในผิวและรักษาความสมบูรณ์ของเกราะป้องกันผิว โดยนักวิทยาศาสตร์ได้แยกความแตกต่างระหว่างผิวมัน ผิวแห้ง ผิวผสม และผิวปกติหรือผิวธรรมดา ประเภทผิวเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน และสภาพผิวของแต่ละบุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไปขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในหลายประการ เช่น ความชุ่มชื้นในผิว ปริมาณน้ำมันในผิว ค่า pH ความสามารถในการดูดจับความชื้น ตลอดจนปัจจัยภายนอกบางอย่าง เช่น ยูวี ลม อุณหภูมิ และปริมาณความชื้นในอากาศ ซึ่งการแบ่งประเภทผิวแบบนี้จะง่ายต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สามารถใช้สกินแคร์ได้ตรงตามสภาพผิวที่เป็นอยู่

ผิวปกติ หรือผิวธรรมดา (Normal Skin)
ผิวธรรมดามีความสมดุลทางโครงสร้างและการทำงาน มีรูขุมขนที่ละเอียด ผิวเรียบเนียน ผิวไม่มันเกินไปหรือแห้งเกินไป ไม่มีปัญหาผิวหรือมีเพียงเล็กน้อย ไม่มีอาการแพ้รุนแรง และผิวพรรณเปล่งปลั่ง โดยทั่วไปมักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผิวประเภทอื่นเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง

ผิวแห้ง (Dry Skin)
ในคนส่วนใหญ่ผิวแห้งพบได้เป็นเรื่องปกติเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผิว เช่น สภาพอากาศที่หนาวเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ แสงแดด สารลดแรงตึงผิว การขาดสารอาหาร รวมไปถึงโรคผิวหนังต่างๆ ซึ่งลักษณะของผิวแห้งจะมีความหยาบกร้าน หมองคล้ำ แตกลอกเป็นขุย ผิวยืดหยุ่นได้น้อยจึงรู้สึกตึงและคัน และมีรอยแดง ผิวแห้งมีแนวโน้มที่จะแก่ก่อนวัยและมีริ้วรอยมากขึ้น 

ผิวมัน (Oily Skin)
ผิวมันจะมีรูขุมขนกว้าง ผิวมีความมันเนื่องจากต่อมไขมันทำงานมากเกินไป เห็นได้ชัดที่สุดบริเวณ T-Zone หรือบริเวณ หน้าผาก จมูก และคาง เมื่อสัมผัสจะมีความมันติดมือมาด้วย มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดหรือมีส่วนทำให้ผิวมันเยิ้มได้ เช่น พันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาหาร ความเครียด เครื่องสำอาง สารเคมี และแสงแดด ผิวประเภทนี้มักจะมีปัญหาสิวและรังแคตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

ผิวผสม (Combination Skin)
ผิวผสม คือ สภาพผิวที่มีความแตกต่างกันบนใบหน้ามากกว่า 1 ประเภท เช่น ผิวธรรมดาและผิวมัน หรือผิวมันและผิวแห้ง ผิวประเภทนี้มักจะมันบริเวณ T-Zone ตอนกลางของหน้าผาก จมูก และคาง ผิวบริเวณอื่น (แก้มและไรผม) เป็นสภาพปกติหรือแห้ง

ผิวแพ้ง่าย หรือผิวบอบบาง (Sensitive Skin)
ผิวแพ้ง่ายเป็นภาวะทางผิวหนังที่ซับซ้อน มีสัมผัสที่ผิดปกติ เช่น รู้สึกแสบร้อน หรือมีผดผื่น และอาจมีอาการเจ็บปวดหรือคันจากสารเคมีต่างๆ (เช่น เครื่องสำอาง สบู่ น้ำ มลพิษ) ปัจจัยทางกายภาพ (เช่น แสงแดด ความร้อน ความเย็น และลม) จุลินทรีย์ ปัจจัยทางจิตใจ (เช่น ความเครียด) และฮอร์โมน (เช่น รอบเดือน) ผิวประเภทนี้ไวต่อสิ่งระคายเคืองต่างๆ อาจเกิดการอักเสบได้ เกราะป้องกันผิวจะถูกรบกวนได้ง่าย จากข้อมูลของ American Academy of Dermatology (AAD) ผิวแพ้ง่ายจะมีลักษณะอักเสบ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

  • ผิวเป็นสิว (Acne Skin)
  • ผิวอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)
  • ผิวแสบร้อน (Burning & Stinging)
  • ผิวผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis)


โครงสร้างพื้นฐาน หน้าที่ และกระบวนการทางชีวเคมีของผิวผู้ชายและผู้หญิงมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังมีข้อที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนดังนี้


ฮอร์โมน (Hormone)
ฮอร์โมนในผู้หญิงและผู้ชายนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในผู้ชายจะมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นขนบนใบหน้าและร่างกาย การผลิตไขมัน และลักษณะโดยรวมของผู้ชาย และยังมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่ทำให้ผิวของผู้ชายมีความหนามากกว่าผิวผู้หญิงประมาณ 25% ส่วนในผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นขนในร่างกายในทางลบ ส่งผลต่อการกระจายไขมันในร่างกาย และส่งผลในเชิงบวกต่อการซ่อมแซมบาดแผล

อายุ (Age)
ผู้ชายจะดูแก่ช้ากว่าผู้หญิง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความหนาที่เพิ่มขึ้นของผิว ปริมาณคอลลาเจนที่สูงขึ้น และขนบนใบหน้าที่ช่วยปกปิดริ้วรอยต่างๆ แม้ว่าทั้งคู่จะมีอัตราการสูญเสียคอลลาเจนเท่ากัน แต่ผู้หญิงมีปริมาณคอลลาเจนที่ต่ำกว่าในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นการลดลงของคอลลาเจนจึงส่งผลให้เกิดสัญญาณแห่งวัยที่มองเห็นได้ชัดเจนในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย


ความหนาของผิว (Skin Thickness)
ผิวผู้ชายค่อยๆ บางลงตามอายุที่มากขึ้น ในขณะที่ผิวผู้หญิงจะคงที่จนถึงวัยหมดประจำเดือน เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนผิวของผู้หญิงถึงจะบางลงเรื่อยๆ


น้ำมัน (Sebum)
ผู้ชายมีปริมาณน้ำมันสูงกว่าผู้หญิงในทุกตำแหน่งของร่างกายและในทุกช่วงอายุ ในผู้ชายต่อมไขมันจะทำงานอย่างปกติและคงที่ถึงแม้จะอายุมากขึ้นก็ตาม ส่วนในผู้หญิงต่อมไขมันจะทำงานน้อยลงตามอายุขัย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 50–60 ปี

การระเหยของน้ำในผิว (TEWL)
ช่วงอายุที่ต่ำกว่า 50 ปี ผู้ชายมีการระเหยของน้ำในผิวต่ำกว่าผู้หญิง อาจมาจากปริมาณน้ำมันในผิวของผู้ชายที่มีมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ความชุ่มชื้นในผิวผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงแต่เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ความชุ่มชื้นในผิวจะลดลงต่ำกว่าของผู้หญิง

เหงื่อ (Sweat)
ผู้ชายมักมีเหงื่อออกมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเหงื่อจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดกลิ่นกายขึ้นมา และเหงื่อของผู้ชายจะคงอยู่บนผิวได้นานกว่าของผู้หญิง การมีเหงื่อออกอาจทำให้ค่า pH ของผิวระหว่างผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกัน ซึ่งผิวของผู้หญิงจะมีค่า pH 5.5 และผู้ชายมีค่า pH 4.4 ยกเว้นบริเวณใต้วงแขนที่มีค่าเท่ากัน

รังสียูวี (UV Radiation)
ผิวผู้ชายจะไวต่อรังสียูวีมากกว่า ดังนั้นผู้ชายจึงมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้น


     การแบ่งประเภทผิวแบบ Baumann จะเป็นแนวทางให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทำความเข้าใจประเภทผิวของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น เพื่อแนะนำส่วนผสมและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสม โดย Baumann Skin-Type Indicator (BSTI) ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.2004 โดยแพทย์ผิวหนัง ศาสตราจารย์ Leslie Baumann จะกำหนดประเภทของผิวด้วย 4 ตัวอักษร และจะได้ลักษณะผิวทั้งหมด 16 แบบ เป็นวิธีการใหม่ในการจัดหมวดหมู่ประเภทผิว โดยใช้พารามิเตอร์ดังนี้

 

 

  • Skin Hydration: ผิวมัน (Oily: O) หรือ ผิวแห้ง (Dry: D) 
  • Skin Sensitivity: ผิวแพ้ง่าย (Sensitive: S) หรือ ผิวทนทาน (Resistant: R)
    โดยผิวแพ้ง่ายจะมีผิวเป็นสิว (Acne), โรซาเซีย (Rosacea), ผิวแสบร้อน (Stinging), ผิวไวต่อการสัมผัส (Allergic)
  • Skin Pigmentation: ผิวมีเม็ดสี (Pigmented: P) หรือ ผิวไม่มีเม็ดสี (Nonpigmented: N)
  • Skin Aging: ผิวมีรอยเหี่ยวย่น (Wrinkled: W) หรือ ผิวตึง (Tight: T)

 

     ไม่ว่าจะสภาพผิวแบบไหนหากได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะช่วยให้ผิวแข็งแรงและสุขภาพดีได้ อีพีนี้เต็มไปด้วยความรู้เรื่องประเภทผิวในแบบต่างๆ ซึ่งสำคัญต่อการเลือกสกินแคร์เป็นอย่างมาก ผิวที่แตกต่างกันย่อมต้องใช้สกินแคร์คนละแบบ อีพีหน้าจะเป็นเรื่องอะไรรอติดตามได้เลยค่ะ!

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้