share

R&D Talk EP.12 ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและระงับเหงื่อ (Deodorant and antiperspirant products)

Last updated: 25 Jun 2024
1498 Views
R&D Talk EP.12 ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและระงับเหงื่อ (Deodorant and antiperspirant products)

     ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและเหงื่อกลายเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการดูแลผิวใต้วงแขนมีความสำคัญมากขึ้น TNP จะมาบอกสาเหตุของกลิ่นตัวรบกวนใจ พร้อมสารระงับกลิ่นกายและเหงื่อกันค่ะ

     ความจริงแล้วเหงื่อนั้นไม่ใช่สาเหตุหลักของกลิ่นตัว โดยผิวของเราจะมีต่อมเหงื่อที่ใช้ผลิตเหงื่อเพื่อระบายความร้อนของร่างกาย แต่ตัวการในการสร้างกลิ่นคือแบคทีเรียประจำถิ่นนั่นเอง

 ต่อมเหงื่อ (Sweat glands) 

ร่างกายจะมีการขับเหงื่อออกมาทางผิวหนังเป็นปกติซึ่งจะช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ไม่ว่าจะในสภาพอากาศที่อบอุ่นหรือชื้น สถานการณ์ความเครียด หรือระหว่างการออกกำลังกายอย่างหนัก นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย ต่อมเหงื่อกระจายอยู่ทั่วไปในผิวหนัง คนส่วนใหญ่มีต่อมเหงื่อหลายล้านต่อมกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ต่อมเหงื่อที่มีมากมายนั้นเปิดโอกาสให้เกิดกลิ่นใต้วงแขนได้นั้นเอง โดยต่อมเหงื่อที่พบในผิวหนังของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ eccrine glands และ apocrine glands

 1). Eccrine glands 

ต่อมเหงื่อทั่วๆ ไปที่พบ ได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ และหน้าผาก มีลักษณะเป็นท่อขดอยู่ในชั้นหนังแท้ มีหน้าที่หลั่งเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte balance) ในเหงื่อประกอบด้วยน้ำและเกลือหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นโซเดียมคลอไรด์และโพแทสเซียมคลอไรด์ กรดอะมิโน เปปไทด์ โปรตีน และส่วนประกอบอิเล็กโทรไลต์ต่างๆ เช่น แอมโมเนีย แคลเซียม กรดยูริก ยูเรีย ทองแดง กรดแลคติค โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส เหงื่อที่ออกจากต่อมชนิดนี้จะไม่มีกลิ่น

 2). Apocrine glands 

ต่อมเหงื่อเฉพาะจุด เช่น รักแร้ ทวาร และเต้านม มีลักษณะเป็นท่อขดอยู่ในชั้นหนังแท้ มีขนาดใหญ่กว่าต่อม Eccrine เริ่มทำงานเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำหน้าที่ผลิตสารคัดหลั่งที่ไม่มีกลิ่น ต่อมนี้จะหลั่งสารได้มักเกิดจากอารมณ์ต่างๆ เช่น ความตื่นเต้น ความโกรธ และความกลัว

จากข้อมูลก่อนหน้าจะเห็นว่า เหงื่อจากต่อมเหงื่อนั้นไม่มีกลิ่น แต่กลิ่นที่เราได้กลิ่นนั้นมาจากแบคทีเรียประจำถิ่นนั่นเอง ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากความร้อนและความชื้นของอากาศ แบคทีเรียจะทำการย่อยสลายสารต่างๆ ที่ออกมากับเหงื่อทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตัวอย่างแบคทีเรีย เช่น Corynebacterium, Streptococcus, Propionibacterium spp., และ Micrococcus, รวมไปถึงยีสต์ Malassezia

"Deodorant" คือ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่ใช้เฉพาะที่ ออกแบบมาเพื่อลดหรือปกปิดกลิ่นกายอันไม่พึงประสงค์โดยการปรับกลิ่นและอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย ที่สำคัญต้องไม่รบกวนต่อมเหงื่อจึงไม่สามารถระงับเหงื่อได้

"Antiperspirant" คือ ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อใช้ทาเฉพาะที่ ออกแบบมาเพื่อลดความเปียกชื้นใต้วงแขนโดยการยับยั้งเหงื่อที่หลั่งจาก Eccrine glands เมื่อระงับเหงื่อได้กลิ่นกายก็ลดลง

 Did You Know รู้หรือไม่? 

ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเคลมได้เมื่อมีน้ำหอม สาร Antibacterial หรือสารอื่นๆ ที่มีเอกสารทางวิชาการสนับสนุน แต่ไม่สามารถเคลมระงับเหงื่อได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเคลมได้เมื่อมีสารระงับเหงื่อ เช่น Aluminum chlorohydrate / Aluminum zirconium octachlorohydrex gly / Aluminium zirconium chloride hydroxide glycine complexes หรือสารอื่นๆ ที่มีเอกสารทางวิชาการสนับสนุน สามารถเคลมระงับกลิ่นกายได้

ประวัติการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ

  • ชาวอียิปต์โบราณใช้น้ำมันหอม เช่น ส้มและอบเชย ร่วมกับการถอนขนที่ไม่ต้องการออก การกำจัดขนจะช่วยลดกลิ่นใต้วงแขนได้
  • ชาวโรมันโบราณใช้สารส้มในการระงับกลิ่นกาย ต่อมาเริ่มมีการใช้น้ำมันหอมและกลิ่นหอม
  • ศตวรรษที่ 13 มีการทำน้ำหอมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ขึ้น
  • ศตวรรษที่ 16 อิตาลีและฝรั่งเศสกลายเป็นศูนย์กลางน้ำหอมขนาดใหญ่ในยุโรป
  • ปลายศตวรรษที่ 19 มีผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายสมัยใหม่ชนิดแรกออกมา ซึ่งมีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ที่ช่วยต้านแบคทีเรีย
  • ต้นศตวรรษที่ 20 เปิดตัว EverDry ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมสมัยใหม่รุ่นแรกที่มีสารระงับเหงื่อ
  • ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและระงับเหงื่อในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งโรลออน สเปรย์ สติ๊ก เจล และครีม

ผลกระทบเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์

โดยปกติแล้ว ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดผลข้างเคียงหากใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก แต่ก็ยังมีการระคายเคืองในผิวที่บอบบาง เช่น การโกนขนก็เป็นการทำให้ผิวอยู่ในช่วงที่บอบบาง และการแพ้มักเกิดจากน้ำหอมที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้สารระงับเหงื่อมักทำให้มีคราบที่เสื้อ

คุณสมบัติและคุณลักษณะที่จำเป็นและความต้องการของผู้บริโภค
จากมุมมองของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและ/หรือระงับเหงื่อที่มีคุณภาพควรมีลักษณะดังต่อไปนี้:

  • กลิ่นที่เป็นกลางหรือน่าพึงพอใจ
  • เกลี่ยง่าย
  • รู้สึกสบายขณะทา
  • ทนทานและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง
  • ดับกลิ่นได้ยาวนาน
  • แห้งเร็ว
  • ไม่ทำให้เกิดคราบ

สารที่นิยมใช้ในสูตร ได้แก่

  • น้ำหอมช่วยปกปิดกลิ่นใต้วงแขนได้
  • Sodium bicarbonate, Potassium bicarbonate และ Zinc carbonate ช่วยทำให้กลิ่นเป็นกลาง ไม่มีกลิ่น
  • Zinc ricinoleate, Zinc oxide, Hydroxyapatite ช่วยระงับกลิ่นด้วยการดักจับสารเคมีที่มีกลิ่น
  • Resins, Silicones, Silicates ช่วยดูดซับกลิ่น ทำให้โมเลกุลของกลิ่นที่เกิดขึ้นในรักแร้เป็นกลาง กลิ่นที่รับรู้ได้จึงลดลง
  • Esterase inhibitors เช่น Zinc glycinate ช่วยยับยั้งเอนไซม์ของแบคทีเรียที่อยู่ใต้วงแขน ส่งผลให้กลิ่นลดลง
  • ปรับค่า pH ของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผิว ซึ่งค่า pH ของผิวใต้วงแขนอยู่ที่ 6
  • ใช้สารที่ช่วยยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์เพื่อป้องกันการก่อตัวของกลิ่นใต้วงแขน เช่น Ethanol, Triclosan, Quaternary ammonium salts, Glyceryl fatty acid esters (diglyceryl monolaurate), Sucrose fatty acid esters (Sucrose monostearate), Essential oils (Thyme oil, Clove oil), สารส้ม (Potassium aluminum sulfate)
  • ใช้สารระงับเหงื่อ เช่น สารที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม (Aluminum chloride, Aluminum chlorohydrate, Aluminum sesquichlorohydrate, Aluminum dichlorohydrate, และ Aluminum sulfate) และสารที่มีส่วนประกอบของ
    อะลูมิเนียมและเซอร์โคเนียม (Aluminum zirconium octachlorohydrex gly / Aluminium zirconium chloride hydroxide glycine complexes)

     รูปแบบของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและเหงื่อพบมากที่สุด ได้แก่ โรลออน สติ๊ก ครีม ผงแป้ง และสเปรย์ โดยจะเน้นคุณสมบัติหลักก็คือระงับกลิ่นกายและเหงื่อ คุณสมบัติอื่นๆ เช่น แห้งไว ไม่ทิ้งความเหียวเหนอะหนะบนผิว ไม่มีความมันและคราบขาว ใช้งานได้ง่าย กลิ่นหอมสดชื่น

     ผู้ใช้ทางคนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและผลกระทบในระยะยาว โดยส่วนผสมที่น่ากังวลใจมากที่สุดคือ อะลูมิเนียม และ เซอร์โคเนียม

อะลูมิเนียม (Aluminum)

มีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้อะลูมิเนียมคือจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่เนื่องจากสามารถระงับเหงื่อได้ รวมไปถึงกังวลว่าผิวใต้วงแขนจะไม่สามารถขับสารพิษออกมาได้และจะนำไปสู่การเป็นมะเร็ง จากความกังวลดังกล่าว ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งเต้านมกับอะลูมิเนียม และได้มีการศึกษาการดูดซึมอะลูมิเนียนเข้าสู่ผิวพบว่ามีปริมาณการดูดซึมเพียง 0.012% เท่านั้นซึ่งน้อยกว่าในอาหารที่เราทานเข้าไป และอีกหนึ่งข้อกังวลของอะลูมิเนียมคือใช้แล้วจะทำให้เป็นอัลไซเมอร์ ประเด็นนี้ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอเมริกาได้ออกมายืนยันแล้วว่าอะลูมิเนียมไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ผู้บริโภคสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างไม่ต้องกังวล

 Did You Know รู้หรือไม่? 

ก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) ห้ามทาผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและเหงื่อ เพราะอะลูมิเนียมซึ่งเป็นไอออนของโลหะจะไปปรากฎเป็นจุดเล็กๆ บนเครื่องแมมโมแกรมได้ ซึ่งจุดเหล่านี้อาจดูเหมือนจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งจุดหินปูนบางชนิดเป็นสัญญาณบอกว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นจึงห้ามทาผลิตภัณฑ์นี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการถ่ายภาพ

เซอร์โคเนียม (Zirconium)

เซอร์โคเนียมมีการศึกษาแล้วว่าเมื่อสูดดมเข้าไปแล้วเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ จึงได้มีการห้ามใช้เซอร์โคเนียมเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง ยกเว้น Aluminium zirconium chloride hydroxide complexes AlxZr(OH)yClz and the aluminium zirconium chloride hydroxide glycine complexes โดยต้องอยู่ในปริมาณที่กฎหมายกำหนดและห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทฉีดพ่น

สารช่วยการฉีดพ่น (Propellants)

ในผลิตภัณฑ์ประเภทแอโรซอลมีการใช้สารช่วยการฉีดพ่นคือ คาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon) หรือที่เรียกว่าสาร CFC เพื่อช่วยดันสารผลิตภัณฑ์ออกจากหัวฉีดในลักษณะเป็นฝอยละเอียด แต่สารประเภทนี้มีผลต่อชั้นบรรยากาศโลก ทำลายชั้นโอโซนให้บางลง ส่งผลให้รังสียูวีผ่านเข้ามายังพื้นโลกได้มากขึ้นสร้างอันตรายให้กับมนุษย์และทำให้โลกร้อน ต่อมาได้มีสารทดแทนคือสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds) หรือที่เรียกว่าสาร VOCs ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) เกิดเป็นมลภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ จึงได้กำหนดขีดจำกัดปริมาณ VOCs สำหรับผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค รวมถึงสเปรย์ฉีดผมและผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย

     เรื่องกลิ่นตัวเป็นเรื่องใหญ่อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเราได้ ดังนั้นจึงต้องหาทางควบคุมกลิ่นและเหงื่อเพื่อไม่ให้รบกวนคนรอบข้าง ที่  TNP COSMECEUTICAL  เรามีผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและเหงื่อให้เลือกสรรให้การทำแบรนด์ บริการครบ จบ พร้อมขาย มาปรึกษาได้เลยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 Aug 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)
ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายให้ถูกต้อง
25 Jun 2024
11 Ingredients ที่เป็นประเด็นกับความยั่งยืน
ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนมากขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างจำกัด ทำให้เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนส่วนผสมเครื่องสำอางที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้ใช้
25 Jun 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ