share

R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.17 ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้น (Feminine Hygiene Products)

Last updated: 25 Jun 2024
189 Views
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.17 ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้น (Feminine Hygiene Products)

     ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นสำหรับผู้หญิงออกแบบมาเพื่อช่วยรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงมีประจำเดือน ช่วยให้ผิวบริเวณจุดซ่อนเร้นสะอาดและช่วยปกปิดกลิ่น ใน EP.17 นี้ TNP จะพาไปรู้จักกับโครงสร้างอวัยวะเพศหญิง แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส และผลิตภัณฑ์เรื่องสำอางสำหรับจุดซ่อนเร้น

     โครงสร้างบริเวณอวัยวะเพศหญิงประกอบด้วยหลายส่วนสำคัญ มีหน้าที่แตกต่างกัน และมีความซับซ้อน แบ่งออกเป็นส่วนของภายในและภายนอก ดังนี้

     ส่วนภายใน ได้แก่ ช่องคลอด (vagina), ปากมดลูก (cervix), มดลูก (uterus), ท่อนำไข่ (fallopian tubes), และรังไข่ (ovaries)

     ส่วนภายนอก ได้แก่ ปากช่องคลอด (vulva), หัวหน่าว (mons pubis), แคม (labia), คลิตอริส (clitoris), รูเปิดของท่อปัสสาวะ (urethral opening), ปากช่องคลอด (vaginal opening), และฝีเย็บ (perineum)

 ในส่วนของปากช่องคลอดและช่องคลอดนั้น มีความสำคัญดังนี้ 

 ปากช่องคลอด (vulva) 

     บริเวณปากช่องคลอดมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่สามารถใช้ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบอ่อนโยน ผ้าเช็ดทำความสะอาด มอยส์เจอไรเซอร์ ครีม ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น ตลอดจนผ้าอนามัย

     ผิวบริเวณปากช่องคลอดมีความแตกต่างจากผิวส่วนอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น

  • มีผิวชั้น stratum corneum ที่บางกว่าผิวบริเวณอื่นๆ ในร่างกาย
  • มีความชุ่มชื้นกว่าผิวบริเวณอื่นๆ เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมปิด
  • ความหนาแน่นของรูขุมขุนและต่อมเหงื่อมากกว่าจุดอื่นๆ
  • ได้รับแรงเสียดทานสูงจากการที่ต้องใส่เสื้อผ้าและผ้าอนามัย
  • อัตราการสูญเสียน้ำมากกว่าผิวที่แขน
  • สารเคมีซึมผ่านได้ดีกว่าผิวกายและผิวหน้า

     จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการทำงานของเกราะป้องกันผิวบริเวณปากช่องคลอดนั้นทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เมื่อเทียบกับผิวส่วนอื่นๆ ทำให้ระคายเคืองต่อสารเคมีได้ง่ายและเกิดโอกาสแพ้สูง

 ช่องคลอด (vagina) 

     ช่องคลอดมีระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิง โดยเกิดจากความแปรปรวนของระดับฮอร์โมน โรค กิจกรรมทางเพศ ยา สุขอนามัย เป็นต้น
     ระดับฮอร์โมนที่ผันผวนมีอิทธิพลต่อจุลินทรีย์ในช่องคลอด ในช่องคลอดที่เจริญพันธ์และสุขภาพดีจะมีแบคทีเรียจำนวนมาก ได้แก่

  • Lactobacillus
  • Staphylococcus
  • Ureaplasma
  • Corynebacterium
  • Streptococcus
  • Peptostreptococcus
  • Gardnerella
  • Bacteroides
  • Mycoplasma
  • Enterococcus
  • Escherichia
  • Veillonella
  • Bifidobacterium species
  • Candida

     โดยแบคทีเรียจะย่อยสลายไกลโคเจนเพื่อเป็นอาหารและเปลี่ยนเป็นกรดแลคติกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด สภาพแวดล้อมที่เป็นกรดมีค่า pH ประมาณ 3.5 - 4.5 เหมาะสำหรับแบคทีเรียดีและจำกัดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค

     จุลินทรีย์ก่อโรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอกสามารถเข้าสู่ช่องคลอดและทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายและอักเสบได้ แลคโตบาซิลลัสเป็นแบคทีเรียที่ดีต่อช่องคลอด สามารถผลิตกรดแลคติกเพื่อควบคุมค่า pH ให้เหมาะสม เจริญเติบโตได้ดีที่สภาวะกรด

     แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสมีประโยชน์ต่อสุขภาพของช่องคลอดเนื่องจากพวกมันสามารถขัดขวางจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ ไม่ให้ไปเกาะติดกับเยื่อบุผิวในช่องคลอด
     นอกจากนี้ยังสามารถผลิตสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ซึ่งเป็นสารพิษสำหรับจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ สารนี้จะทำการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้

  • ช่องคลอดที่มีการทำงานอย่างปกติและสมดุลจะสามารถยังยั้งการติดเชื้อทางเพศ
  • สัมพันธ์ (sexually transmitted diseases (STDs) )
  • ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนสมดุลค่า pH ของช่องคลอด

 ปัจจัยเหล่านี้จะไปทำการรบกวนสมดุลของแบคทีเรีย ก่อให้เกิดการติดเชื้อและโรคอื่นๆ ขึ้น 

  • ไม่รักษาสุขอนามัย
  • ทำความสะอาดบ่อยเกินไป
  • น้ำหอมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นมีมากเกินไป
  • ล้างน้ำไม่เพียงพอจนมีสารทำความสะอาดตกค้าง
  • การรับประทานคาร์โบไฮเดรต
  • ยา เช่น ยาปฏิชีวนะและยาคุมกำเนิด

 ช่วงเหตุการณ์สำคัญในระบบฮอร์โมนเพศหญิง 

     ในช่วงวัยรุ่น (puberty) จะเข้าสู่การมีประจำเดือน ระดับเอสโตรเจนสูง ปริมาณไกลโคเจนก็สูงเช่นกัน เมื่อมีอาหารมากขึ้น ปริมาณแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสก็เจริญเติบโตได้ดี มีจำนวนมากขึ้น ผลิตกรดแลคติกได้มาก ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ตัวอื่นได้ดี

     วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (menopause) ส่งผลต่อฮอร์โมน โดยการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างมาก ทำให้ช่องคลอดแห้งและฝ่อ ปริมาณไกลโคเจนลดลง ส่งผลไปยังแบคทีเลียแลคโตบาซิลลัสที่ก็มีการลดลงเช่นกัน การผลิตกรดแลคติกก็ลดลงไปด้วยเป็นผลให้ค่า pH ในช่องคลอดสูงขึ้น เมื่อค่า pH สูง แบคทีเรียก่อโรคจะเริ่มเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อและการอักเสบ

     ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขอนามัยสำหรับผู้หญิงที่หลากหลาย ในทางเครื่องสำอางนั้นก็มีผลิตภัณฑ์สำหรับจุดซ่อนเร้นเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับจุดซ่อนเร้น ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างอ่อนโยน ขจัดเซลล์ที่ตายแล้ว เหงื่อ ปัสสาวะที่ตกค้าง สารคัดหลั่งในช่องคลอด และเลือดจากบริเวณอวัยวะเพศในระหว่างมีประจำเดือน ช่วยให้ผิวรู้สึกสดชื่นและช่วงคงค่า pH ให้เป็นปกติ

ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น ออกแบบมาเพื่อปกปิดกลิ่นเฉพาะที่เกิดขึ้นระหว่างวัน ช่วยให้ผิวรู้สึกสดชื่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น สเปรย์ระงับกลิ่นสำหรับจุดซ่อนเร้น ผ้าเช็ดทำความสะอาด แป้งฝุ่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย

ผลิตภัณฑ์ดูดซับ ออกแบบมาเพื่อดูดซับของเหลวระหว่างรอบเดือน หรือในกรณีที่ปัสสาวะเล็ด ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ผ้าอนามัยแบบแผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด แผ่นอนามัย แผ่นซึมซับปัสสาวะ

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับจุดซ่อนเร้น ออกแบบมาเพื่อบำรุงผิวบริเวณจุดซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใส ช่วยให้ผิวดูเรียบเนียน เป็นต้น

 Did you know รู้หรือไม่? 

     ผ้าอนามัยทั้งแบบใช้ภายนอกและแบบสอดถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 เนื่องจากมีความสอดคล้องตามความหมายของเครื่องสำอางที่ว่า

  1. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่ายกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่าง ๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นต่างๆ สำหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
  2. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
  3. วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง

ส่วนถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นจัดเป็นเครื่องมือแพทย์

 พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อจุดซ่อนเร้น 

  1. การสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ นั้นเป็นการส่งเสริมการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคและค่า pH ในช่องคลอดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยธรรมชาติของช่องคลอดนั้นสามารถทำความสะอาดตัวเองได้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องสวนล้าง
  2. เมื่อมีการติดเชื้อจากยีสต์และแบคทีเรียในช่องคลอดมักจะมีการแสดงอาการออกมา เช่น ตกขาวเปลี่ยนสีและมีกลิ่น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาทานเอง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้
  3. ปัญหาทั่วไปจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นคืออาการระคายเคืองหรือแพ้ เนื่องจากบริเวณจุดซ่อนเร้นนั้นบอบบางและไวต่อสารเคมีมากกว่าส่วนอื่นๆ ในร่างกาย
  4. การทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่เหมาะสมและบ่อยเกินไปจะทำให้ผิวชั้น stratum corneum ที่บางอยู่แล้วได้รับความเสียหายได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การระคายเคือง

     เครื่องสำอางสำหรับจุดซ่อนเร้นนั้นเน้นความอ่อนโยน ปกป้องผิวจากการระคายเคือง และมีค่า pH ที่เหมาะสม ซึ่งมักพบเจอผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตามตลาดที่วางขาย ได้แก่

 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและขจัดกลิ่น (Cleansing and Deodorizing Product) 

     ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดับกลิ่นของผู้หญิงใช้กับบริเวณอวัยวะเพศภายนอกหรือในช่องคลอด มีจำหน่ายในหลายรูปแบบ ได้แก่ เจล สบู่เหลว ทิชชู่เปียก และสเปรย์ โดยเน้นความอ่อนโยน ใช้สารลดแรงตึงผิวที่ทำความสะอาดอย่างพอดี ไม่ชำระล้างรุนแรงเกินไป โดยปกติแล้วผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มักจะมีฟองน้อยมากหรือไม่มีเลย และให้ค่า pH ที่เหมาะสมกับผิว นอกจากนี้ยังมีสารต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นรวมอยู่ในสูตรด้วย

 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น (Feminine Wash) 

     ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในส่วนของเนื้อสัมผัสและส่วนผสมนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกายทั่วไป แต่มีบางจุดที่ต้องคำนึงถึง อย่างเช่น ความอ่อนโยนของสารลดแรงตึงผิวและค่า pH ของเนื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งควรมีความใกล้เคียงกับ pH บริเวณจุดซ่อนเร้นที่เป็นกรดอ่อน ๆ สามารถใช้ทำความสะอาดได้ทุกวัน

 

 ส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ 

สารลดแรงตึงผิว (Surfactants)

     มักใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวที่เป็นประจุลบ (anionics) เช่น sodium laureth sulfate หรือ สารลดแรงตึงผิวที่มีความอ่อนโยนมากกว่า เช่น sulfosuccinates หรือ isethionates ส่วนสารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุ (nonionics) เช่น decyl glucoside และสารลดแรงตึงผิวแอมโฟเทริก (amphoterics) เช่น cocamidopropyl betaine และ disodium cocoamphodiacetate

สารปรับสภาพผิว (Skin conditioners)

สารปรับสภาพผิวจะช่วยลดความแรงของสารลดแรงตึงผิวลงได้ เช่น quats และ hydrolyzed proteins

สารสกัดจากธรรมชาติ (Natural extracts)

สารสกัดจากธรรมชาติมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น ปลอบประโลม ลดอาการระคายเคือง ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และป้องกันอาการคัน เช่น ว่านหางจระเข้ ดอกคาโมไมล์ ชาเขียว ลูกพลับ และทับทิม

สารปรับความข้นหนืดหรือสารเพิ่มความคงตัว (Thickeners)

ช่วยให้เนื้อผลิตภัณฑ์ ควบคุมการไหลของเนื้อ เช่น xanthan gum, hydroxyethyl cellulose, aluminum silicates ส่วนเกลือ หรือ sodium chloride ก็สามารถช่วยปรับความข้นของเนื้อได้เช่นกันเมื่อในสูตรมีสารลดแรงตึงผิวประจุลบอยู่ด้วย

บัฟเฟอร์ (pH buffers)

มีความสำคัญอย่างมาก ช่วยปรับค่าความเป็นกรดด่างในสูตร เพื่อให้เหมาะสมกับ pH ของจุดซ่อนเร้น โดยปกติแล้วสูตรจะมีค่า pH เป็นกรด ซึ่งสารที่ช่วยปรับค่าตรงนี้ เช่น lactic acid และ citric acid

สารกันเสีย (Preservatives)

สารกันเสียจะต้องมีความอ่อนโยนด้วยเช่นกัน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว เช่น sodium benzoate, phenoxyethanol และchlorphenesin เป็นต้น


ส่วนผสมเพิ่มเติม

  • สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants)
  • สารให้ความชุ่มชื้น (humectants)
  • สารแต่งสี (colorants)
  • สารหอม (fragrances)

 ผ้าเช็ดทำความสะอาด (Feminine Cleansing Wipe) 

     ผ้าเช็ดทำความสะอาดหรือทิชชู่เปียก มีความอ่อนโยนสูง เป็นผ้าแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่ต้องใช้น้ำสะอาดล้างออก ผ้าสามารถย่อยสลายได้ น้ำที่ถูกผ้าดูดซับไว้จะมีส่วนผสมของสารลดแรงตึงผิวอ่อนๆ มีสารให้ความชุ่มชื้นผิว เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย พกพาสะดวก

 แป้งฝุ่น (Feminine Dusting Powder) 

     แป้งฝุ่นสามารถใช้ควบคุมกลิ่นได้เหมือนกับแป้งเด็ก ใช้ส่วนผสมที่มีความสามารถในการดูดซับที่ดี เช่น corn starch ซึ่งสามารถดูดซับเหงื่อ ปัสสาวะตกค้าง และสารคัดหลั่งในช่องคลอด ในขณะที่กลิ่นหอมที่เพิ่มเข้ามาอาจปกปิดกลิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ผิวแห้ง สบายผิว และสดชื่นขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มส่วนผสมที่ทำให้กลิ่นเป็นกลาง เช่น sodium bicarbonate

 สเปรย์ระงับกลิ่น (Feminine Deodorant Spray) 

     สเปรย์ระงับกลิ่นสำหรับจุดซ่อนเร้นออกแบบมาเพื่อกำจัดกลิ่นและดูดซับความชื้น คล้ายกับผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใต้วงแขน อย่างไรก็ตาม สเปรย์ระงับกลิ่นสำหรับจุดซ่อนเร้นมักจะไม่มีแอลกอฮอล์เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคือง ส่วนผสมในการปกปิดกลิ่น คล้ายกับผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใต้วงแขน ได้แก่ fragrances, zinc ricinoleate, sodium bicarbonate, และ corn starch

 ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับจุดซ่อนเร้น (Feminine Nourishing) 

     ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นสำหรับผิวบริเวณจุดซ่อนเร้น โดยทั่วไปแล้วจะเป็นสูตรที่มีความอ่อนโยนสูง ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามความต้องการ อย่างเช่น ผิวดูกระจ่างใส ผิวชุ่มชื้น ปลอบประโลมผิวที่ได้รับการโกนขนหรือเลเซอร์ เป็นต้น

 

     สำหรับจุดซ่อนเร้น ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ บนร่างกาย แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ผลิตภัณฑ์ต้องมีความอ่อนโยน ไม่ระคายเคือง และมีค่า pH ที่เหมาะสม เพื่อช่วยคงสุขอนามัยที่ดีของคุณผู้หญิง ที่ TNP เรารับสร้างแบรนด์สำหรับจุดซ่อนเร้นแบบครบวงจร สนใจสร้างแบรนด์ ปรึกษาได้เลยค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.24 การทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตอน การทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Evaluation)
การที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสูตรใหม่นั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีการทดสอบมากมาย และหนึ่งในการทดสอบที่สำคัญคือ การทดสอบทางประสาทสัมผัส เป็นเสมือนการทดลองใช้ก่อนวางขายจริง
6 Aug 2024
R&D Talk นักวิจัยขอเล่าเรื่อง EP.27 การจดแจ้งชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (FDA Registration)
ชื่อเครื่องสำอางที่แปลกใหม่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ แต่การจะตั้งชื่อได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายให้ถูกต้อง
25 Jun 2024
11 Ingredients ที่เป็นประเด็นกับความยั่งยืน
ด้วยสภาวะโลกที่ร้อนมากขึ้นและทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกอย่างจำกัด ทำให้เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เปลี่ยนส่วนผสมเครื่องสำอางที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้ใช้
25 Jun 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ